
25 เม.ย. 2565 - ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่หาเสียงตลาดสะพานสองและตลาดโชคชัย 4 เขตลาดพร้าว พร้อมสำรวจ ทางเท้า โดยรอบตลาดริมถนนลาดพร้าว ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ระหว่างเดินสำรวจพบปัญหาผิวทางเท้าขรุขระ แผ่นกระเบื้องไม่แน่น มีสิ่งปลูกสร้าง-ป้ายจราจรกีดขวาง คนแก่-คนพิการใช้งานไม่สะดวก สายสื่อสารไม่เป็นระเบียบ ทางม้าลายไม่ปลอดภัย และปัญหาความสะอาด
นายชัชชาติ เผยว่า ทางเท้า เป็นปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ จากข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค. - ก.พ. 65 พบการร้องเรียนเรื่องทางเท้ากว่า 150 จุด ตนจึงมีนโยบาย กรุงเทพฯ เดินได้ พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กิโลเมตร โดยเป้าหมาย 1,000 กิโลเมตร ถือว่าไม่เยอะและดำเนินการได้จริง ถ้าหากเฉลี่ยรายเขต 50 เขต แต่ละเขตจะพัฒนาขั้นต่ำเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งต้องเลือกให้ความสำคัญจากทางเท้าที่มีการใช้งานหนาแน่นและได้รับการร้องเรียนบ่อยครั้งเป็นลำดับแรก และพัฒนาให้สอดคล้องกับแต่ละบริบทและการใช้งานของแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ทางเท้า ที่มีคุณภาพต้องออกแบบให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้ ผ่านมาตรฐานการก่อสร้างที่แข็งแรงคงทน ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมไม่นาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงต้องมีต้นไม้ริมทางให้ร่มเงาจากการดูแลโดยรุกขกรมืออาชีพ บางจุดอาจก่อสร้างหลังคากันแดดกันฝน เพื่อส่งเสริมความสะดวกสบายในการเดิน
นายชัชชาติ ย้ำว่า ทางเท้าเป็นปัจจัยส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของทุกคนในกรุงเทพฯ และการเดินบนทางเท้าคุณภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเมือง
“การเดินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเมือง เช่นเดียวกับการเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ เรื่องทางเท้าต้องพัฒนาทั้งระบบ ฝุ่นน้อยลง มีร่มเงา มีต้นไม้ เมื่อทางเท้าดีสุดท้ายคนจะออกมาเดินมากขึ้น สุดท้ายก็จะมีผลดีกับเศรษฐกิจ จากนั้นเราก็จะควบคุมความปลอดภัยบนท้องถนน ปรับปรุงทางม้าลาย จำกัดความเร็วรถบนถนน ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ต้องทำเมืองให้คนใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.