บุกจับแก๊งทุจริต ลงทะเบียนจองคิววัคซีนโควิด

ผบช.ก. จับมือ ตร.รถไฟ บุกจับแก๊งทุจริตลงทะเบียนจองวัคซีนโควิด รวบ 7 ผู้ต้องหา

(27 ก.ย. 64) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผบก.รฟ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง และตำรวจรถไฟ บุกตรวจค้นบ้านเป้าหมายพร้อมกัน 7 จุด ควบคุมผู้ต้องหาทุจริตลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 รวม 7 คน โดยหนึ่งในหลายจุด เข้าตรวจค้นอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง เขตดินแดง กรุงเทพฯ จับกุม ชายหญิง 2 คน ภายในห้องพักดังกล่าว ก่อนนำตัวสอบสวน

มีรายงานว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ถือเป็นผู้ต้องหารายสำคัญในการทุจริตการลงทะเบียนวัคซีนโควิด19 จากการให้บริการ walk-in ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยทางศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ พบความผิดปกติในการลงทะเบียน จึงได้ทำการสืบสวนมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพบว่า ผู้ที่จ่ายเงินซื้อคิวลงทะเบียนจากกลุ่มผู้ต้องหา จะเดินทางเข้ามารับบริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ โดยพบว่าผู้ที่ลงทะเบียน 600 คนที่ยอมจ่ายเงินซื้อคิวฉีดวัคซีน จากจำนวนทั้งหมด 2,000 กว่าคน

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้วางแผน โดยใช้วิธีการยกเลิกฉีดวัคซีนทั้งหมดจำนวนกว่า 2 ,000 คน เพื่อให้เกิดปัญหาการร้องเรียน และเข้าขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ จนกระทั่งพบข้อเท็จจริงทั้งหมดจากผู้ที่ถูกยกเลิกฉีดวัคซีน

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 นางศิริลักษณ์ อุบลเหนือ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการด้านอำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้มาแจ้งความกล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับคนร้ายที่เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ และทำการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมรายชื่อผู้มีสิทธิที่จะได้รับการฉีดวัคซีน เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

โดยก่อนเกิดเหตุ สถาบันโรคผิวหนัง ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมการแพทย์ ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ กำกับ ดูแล และบริหารจัดการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

เมื่อมีการลงทะเบียนกรอกข้อมูลรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ผ่านโปรแกรม softconvaccine ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของกรมการแพทย์

ซึ่งตั้งอยู่ที่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ และผู้มีสิทธิเข้ารับการฉีดวัคซีนสามารถตรวจสอบข้อมูลการนัดหมาย รับการฉีดวัคซีนได้บน แอพลิเคชั่น วัคซีนบางซื่อ

ในการกรอกข้อมูลดังกล่าว บุคคลากรที่มีหน้าที่ลงทะเบียนกรอกข้อมูลจะได้รับชื่อผู้ใช้งาน หรือ “username” และรหัสผ่านหรือ “password” ประจำตัวสำหรับใช้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที ของศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ ได้ตรวจสอบ พบรายชื่อบุคคลที่มีการลงทะเบียนนอกเวลาทำการ (หลังเวลา 20.00 น.) จำนวนมากผิดปกติ ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ จากการตรวจสอบพบว่ามีการนำข้อมูลรายชื่อบุคคลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ นอกเวลาทำการประมาณวันละ 1,000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น.ถึง 24.00 น. โดยประมาณ

จึงได้สั่งการให้ยกเลิกและนำรายชื่อที่ลงทะเบียน นอกเวลาทำการทั้งหมด ออกจากระบบคอมพิวเตอร์

ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เวลาประมาณ 09.00 น. ได้มีประชาชนซึ่งที่มีรายชื่อนัดหมายในวันดังกล่าว และมีชื่อลงทะเบียนนอกเวลาทำการ เดินทางมาตามกำหนดนัดเพื่อรับวัคซีนที่จุดลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่พบข้อมูล (เนื่องจากยกเลิกรายชื่อไปแล้ว) ทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าว แสดงความไม่พอใจ และพูดทำนองว่า “เสียเงินแล้วแต่ทำไมไม่ได้ฉีด” โดยทราบว่า คนร้ายได้เรียกเก็บเงินในการเพิ่มชื่อเพื่อเข้ารับ การฉีดวัคซีนเป็นเงินรายละ 200 ถึง 1,000 บาท ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับประชาชนทั่วไป กรมการแพทย์ไม่ได้มีนโยบายเรียกเก็บเงินแต่อย่างใด

จึงมีการสอบถามประชาชนกลุ่มดังกล่าว โดยให้กรอกข้อมูลเป็นเอกสารไว้ ต่อมาจึงได้รวบรวมหลักฐานเข้าแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ส.รฟ.นพวงศ์ กก.๑ บก.รฟ. เพื่อให้ทำการสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ตำรวจได้ทำการสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ โดยมีการสอบพยานที่เกี่ยวข้องจำนวนประมาณ 200 ปาก ตรวจสอบข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้รวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ และยื่นคำร้องขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญา ศาลอาญาอนุมัติหมายจับบุคคลดังรายชื่อต่อไปนี้

1. น.ส.ภคมน หอมภักดิ์

2. นายวิชญพงศ์ ธีรอังคณานนท์

3. นางสุรีนาฎ ปัทมวิชัยพร

4. นายจุมพล ศรียาภัย

5. นางสาวบัณฑิตา รุ่งสว่าง

6. นางสาวกรรติมา ยางทอง

7. นายหทัยชนก บริรักษ์

ในความผิดฐาน “ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ,ร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน โดยร่วมกันกระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ,ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางสวน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยร่วมกันกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะหรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ,ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกง” อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๕,๗,๙,๑๒ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ,๓๔๓ ประกอบมาตรา ๘๓

ต่อมาในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๔ เจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันจับกุมตัวผู้ต้องหานี้นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

คลิปแนะนำอีจัน
ชีวิตน่าเวทนาของเด็กหญิง 9 ขวบ