ตำรวจ ทลาย คลินิกหรู ใช้ยา-อาหารเสริม ไม่ขึ้นทะเบียน ขายคอร์สหลักล้าน

ตำรวจ บช.ก และ อย. บุกจับ คลินิกหรู ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ พบ ใช้ยา-อาหารเสริม ไม่ขึ้นทะเบียน อย. แต่ ขายคอร์สหลักล้าน

คลินิกหรู ย่านเกษรทาวเวอร์ ใช้ยา-อาหารเสริม ไม่ขึ้นทะเบียน ขายคอร์สหลักล้าน

วันนี้ (16 ม.ค. 66) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงการณ์ตรวจค้นคลินิกแห่งหนึ่ง ย่านเกษรทาวเวอร์ ที่ใช้ยานำเข้า และยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ขายคอร์สราคาแพง รวมทั้งใช้อาหารเสริมที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้อง 252 รายการ มูลค่า 5,977,000 บาท

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ กก.4 บก. ปคบ. ได้รับเรื่องจาก อย. ให้ตรวจสอบ คลินิกชื่อดัง ตั้งอยู่ที่ อาคารเกษรทาวเวอร์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ที่เปิดให้บริการทางเวชกรรม, กายภาพบำบัด, แพทย์แผนไทยประยุกต์ และการพยาบาล ในลักษณะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษา ขายคอร์สในราคา 1,000-2,000,000 บาท โดยคลินิกดังกล่าวมีการใช้ยานำเข้า และยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ทั้งกลุ่มยาฉีด ยารับประทานและอาหารเสริมที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และมีการผสมยาอันตรายในอาหารเสริม เสนอโปรแกรมการรักษารูปแบบต่างๆ เช่น การดีท็อกซ์สารพิษ, การชะลอวัยด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และการฉีดวิตามินเพื่อบำรุง สำหรับตับและสมองให้หายจากอาการเจ็ทแลค เพิ่มพลังงานกับร่างกาย ให้รู้สึกสดชื่นและมีสมาธิ ฯลฯ จึงนำกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าคลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการจริง โดยมีชาวต่างชาติมารับบริการจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. นำหมายค้นศาลแขวงปทุมวันที่ 1/2566 ลงวันที่ 9 มกราคม 2566 เข้าตรวจค้นคลินิกและตรวจยึดของกลาง

1.ยาไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ตาม พ.ร.บ พ.ศ.2510 จำนวน 144 รายการ

2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 จำนวน 108 รายการ รวมตรวจยึดของกลาง 252 รายการมูลค่าของกลาง 5,977,000 บาท

ซึ่งคลินิกดังกล่าว เน้นรับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ โดยผู้เข้ารับบริการจะต้องตรวจเลือดก่อนจะนำไปวิเคราะห์ แล้วจึงเสนอขายคอร์สหรือยาให้ลูกค้า โดยอ้างว่า ไม่มีขายในประเทศไทย มีเฉพาะในคลินิกนี้เท่านั้น โดยเป็นยานำเข้าและยาไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีทั้งยาฉีด ยารับประทาน และยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ได้รับอนุญาต

พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้ออกหมายเรียกกรรมการบริษัทฯ เพื่อเข้ามารับทราบข้อกล่าวหา โดยเบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฐาน

1.ขายยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “จำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท” ในส่วนแพทย์ที่มีชื่อเป็นผู้ดำเนินการในคลินิกดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ไม่จัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ที่จําเป็นประจำสถานพยาบาลฯ ตามชนิดที่กําหนดในกฎกระทรวง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ตรวจยึดมาจะมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากตรวจพบว่ามีการผสมยาอันตรายลงไปในอาหารจะมีความผิดฐาน “จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 72 (4) ฐาน “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6 (10) ฐาน “จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การเข้าตรวจค้นครั้งนี้ เป็นคลินิกที่ได้รับอนุญาต แต่ยาที่ใช้ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ทั้งรูปแบบยาฉีดและยารับประทาน นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร กรณีการเตรียมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายนั้น เป็นการเตรียมตามใบสั่งแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรักษาตามอาการของคนไข้แต่ละราย และไม่ควรเตรียมยารอไว้จำนวนมาก จากการตรวจค้นคลินิกในครั้งนี้ พบยาไม่ได้ขึ้นทะเบียนในรูปแบบยาฉีดจำนวนมาก ฉลากไม่ระบุสถานที่ผลิตยา ไม่มีเลขทะเบียนตำรายา ไม่ระบุวันที่ผลิตยา และไม่มีข้อมูลการศึกษาคงสภาพ (Stability Data) ของยา

ทั้งนี้ยาที่จ่ายให้คนไข้ ควรเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับ และผลิตจากสถานที่ผลิตยาที่มีมาตรฐาน การผลิตยาที่ดี หรือ GMP โดยเฉพาะยาฉีดต้องเป็นยาปราศจากเชื้อ และมีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้ที่ได้รับยา ได้รับอันตรายจากยาที่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ หรือเชื้อก่อโรค ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพการรักษาและปลอดภัยของคนไข้ ที่มาใช้บริการ คลินิกเวชกรรมควรเลือกใช้ยาที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับยา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายต้องมีเลขสารบบอาหารด้วยเช่นกัน โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. โทร 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected] หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาข้อมูลคลินิกแพทย์ ยาที่ใช้ รวมถึงขั้นตอนการรักษาให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการรักษา เนื่องจากการรักษาซึ่งมีทั้งการฉีดยาและการรับประทานยาที่อาจไม่ได้มาตรฐาน หรือมีขั้นตอนและวิธีการรักษาที่ต้องใช้ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือบางกระบวนการรักษาอาจยังไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบหรือเกิดความเสียหายต่อร่างกายโดยตรงได้ อาจทำให้สูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์โดยไม่เกิดผลทางการรักษาแต่อย่างใด และขอแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิดให้หยุดการกระทำ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการกวดขัน และจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด โดยพี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

คลิปอีจันแนะนำ
ซ้อเจี๊ยว ค้ากามเด็ก 13