เช็กลิสต์ 5 ข้อ ก่อนพึ่ง แอปกู้เงิน เสี่ยงโดนหลอก สูญเงินไม่รู้ตัว

ตำรวจไซเบอร์ เปิดเช็กลิสต์ 5 ข้อ วิธีที่สังเกต แอปเงินกู้ออนไลน์ ที่หลอกลวง แบบง่ายๆ รู้ไว้จะได้ไม่โดนหลอก สูญเงินไม่รู้ตัว

จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำเสนอ 18 กลโกงมิจฉาชีพ ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์ เช่น 1.หลอกขายสินค้าออนไลน์ แต่ไม่ได้รับสินค้า / หรือได้รับสินค้าแต่ไม่ตรงตามโฆษณา

2.หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์ โดยชักชวนทำงานออนไลน์ที่ไม่มีอยู่จริง อ้าง PLATFORM ที่น่าเชื่อถือ เช่น TikTok Youtube Lazada เป็นต้น โดยหลอกลวงให้ กด LIKE กด SHARE เพื่อเพิ่มยอดวิว แกล้งรับออเดอร์ ทำสต็อกสินค้า แต่สุดท้าย หลอกเอาเงินที่อ้างว่าเป็นเงินค้ำประกันจากท่าน (เหยื่อ)

3.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center) โทรศัพท์มุ่งเป้าหาเหยื่อ โดยแจ้งว่า ท่านเกี่ยวข้องกับการส่งพัสดุผิดกฎหมาย การกระทำผิดกฎหมาย หรือโดนอายัดบัญชีธมาคาร แล้วอ้างเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ข่มขู่เรื่องกฎหมายฟอกเงิน ให้ท่าน (เหยื่อ) โอนเงินโดยพลการ

แต่ด้วยปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มิจฉาชีพเหล่านี้ก็ออกกลอุบายใหม่ๆ เพื่อให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน มาหลอกลวงเหยื่อให้หลงเชื่อจำนวนไม่น้อย

ขณะที่ล่าสุด กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ก็ได้โพสต์เตือนภัย ผ่านเฟซบุ๊ก ตำรวจไซเบอร์ – บช.สอท. ระบุถึงวิธีที่สังเกตแอปเงินกู้ออนไลน์ที่หลอกลวง แบบง่ายๆ

1.โฆษณาเกินจริง มักโพสต์ตามสื่อโซเชียลต่างๆ หรือส่งผ่านข้อความ SMS พร้อมวลีฮิต เช่น กู้เงินด่วน อนุมัติไวใน 10-15 นาที ดอกเบี้ยต่ำ อาชีพไหนก็กู้ได้ ติดแบล็คลิสต์ก็ไม่เป็นปัญหา วงเงินสูง เป็นต้น เพื่อชักจูงให้เหยื่อสนใจ

2.แอบอ้างหน่วยงานอื่น เช่น อ้างเป็นธนาคาร บริษัทที่มีชื่อเสียง หรือตั้งชื่อให้ใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

3.มีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า มักอ้างว่ามีการอนุมัติยอดเงินแล้ว แต่จะต้องจ่ายจ่ายค่าประกัน ค่าสมาชิก หรือค่ามัดจำก่อนถึงจะรับเงินได้ พอเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไปก็จะชิ่งหนีไปทันที

4.หลอกให้ติดตั้งแอปฯ เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลในโทรศัพท์ไว้ใช้สำหรับข่มขู่ หรือนำไปทำธุรกรรมทางการเงิน

5.ข่มขู่ให้กลัว ถ้าเหยื่อไม่ทำตามเงื่อนไขก็จะด่าทอ หรือพูดจาข่มขู่ เช่น โพสต์ประจานให้เหยื่ออับอาย, ขู่จะออกหมายจับ หรือโทรข่มขู่คนใกล้ชิด

ทั้งนี้ หากใครที่ต้องการกู้เงินควรเลือกผู้ให้บริการด้านสินเชื่อที่ถูกกฎหมาย ภายใต้การกำกับของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่ เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/

ขณะที่ แบงก์ชาติ ระบุว่า 3 สิ่งที่ต้องทำ ก่อนกู้ออนไลน์ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่กำลังระบาด! แอบอ้างชื่อผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจากแบงก์ชาติ

1. เช็กว่าเป็นผู้ให้บริการตัวจริง ได้ที่ ‘เช็กแอปเงินกู้’ จากแบงก์ชาติ ที่นี่ คลิก https://www.bot.or.th/th/involve-party-license-loan.html

2. โทรเช็ก กับผู้ให้บริการที่ถูกอ้างชื่อ ตามเบอร์โทรศัพท์ที่ปรากฎบนเว็บไซด์ ก่อนตัดสินใจกู้เงิน

3. ตั้งสติ ระวังตัวก่อน ถ้าผู้ให้กู้รายใดแจ้งให้โอนเงินก่อน ให้คิดไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพหลอกลวงแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ตร.ไซเบอร์ เตือนพ่อ-แม่ค้าออนไลน์ ระวังสลิปปลอมจากมิจฉาชีพในคราบลูกค้าเตือนภัย! มุกใหม่มิจฉาชีพ ทักไลน์หาเรื่อง ก่อนตุ๋นเหยื่อกดลิงก์ดูดเงินเตือนภัย! มุกใหม่มิจฉาชีพ ทักไลน์หาเรื่อง ก่อนตุ๋นเหยื่อกดลิงก์ดูดเงิน
คลิปอีจันแนะนำ
พบศพ นักธุรกิจชาวเยอรมัน ถูกฆ่ายัดตู้เย็น