สุดอึ้ง! เดือนเดียว มีคนโดนหลอกกู้เงินออนไลน์ กว่า 70 ล้านบาท

ตำรวจไซเบอร์ เผย 1–31 ส.ค.66 มิจฉาชีพหลอกกู้เงินออนไลน์ กว่า 1,578 เรื่อง สูญเงินกว่า 70.6 ล้านบาท ล่าสุดมามุกใหม่ ปลอมไลน์เป็นอาจารย์หลอกนักศึกษากู้ กยศ.

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์อาจารย์หลอกลวงนักศึกษาให้กู้ยืมเงิน กยศ. 

เหล่านักศึกษาต้องระวัง 1–31 ส.ค.66 ที่ผ่านมา มีคนถูกหลอกให้กู้เงินออนไลน์กว่า 1,578 เรื่อง และมีความเสียหายรวมกว่า 70.6 ล้านบาท ล่าสุดมิจฉาชีพมามุกใหม่อีกแล้วค่ะทุกคน รอบนี้ปลอมบัญชีไลน์เป็นอาจารย์หลอกลวงให้นักศึกษาที่จะกู้ กยศ. โอนเงินอ้างว่าจะนำไปตรวจสอบแล้วเชิดเงินหนี  

วันนี้ (7 ก.ย.66) ทางเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้โพสต์เตือนภัยนักศึกษา กรณีมีมิจฉาชีพปลอมไลน์เป็นอาจารย์ ระบุว่า 

จากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายราย ซึ่งเป็นนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ถูกมิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์ แอบอ้างเป็นอาจารย์หลอกลวงนักศึกษาที่อยู่ภายในกลุ่ม Line Open Chat  

โดยแจ้งว่าให้ผู้กู้รายใหม่ปี 2566 มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน 310 บาท พร้อมกับให้แจ้งชื่อ-นามสกุล และสถานะแอปพลิเคชันของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่านบัญชีไลน์ชื่อ “งานลงทะเบียน” ตามลิงก์ที่ส่งเข้ามาในกลุ่มดังกล่าว 

เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ คนร้ายจะส่งลิงก์ให้กดยืนยันทำการโอนเงิน อ้างว่าเป็นการตรวจสอบบัญชี โดยจะแจ้งผลให้ผู้เสียหายทราบภายในเวลา 2 ชั่วโมง ต่อมาคนร้ายจะแจ้งผู้เสียหายว่าธุรกรรมดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ จะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินอีกครั้ง จำนวน 1,310 บาท ผู้เสียหายทราบว่าถูกหลอกลวงจึงมาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับคนร้ายดังกล่าว 

ทั้งนี้ ตำรวจไซเบอร์ ได้แนะนำ 7 วิธีสังเกตและป้องกัน มิจฉาชีพหลอกให้กู้เงิน ดังนี้ 

1. หากผู้ให้กู้เงินแจ้งให้ผู้กู้โอนเงินก่อนไม่ว่าจะเป็นค่าอะไร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ 

2. ระวังบัญชี Line Open Chat แอดมินปลอม บัญชีแอดมินจริงจะมีไอคอนวงกลมมงกุฎขาวพื้นสีน้ำเงิน หรือมงกุฎน้ำเงินพื้นขาว อยู่ด้านล่างขวาของรูปโปรไฟล์ 

3. บัญชีแอดมินจริงจะอยู่เป็นชื่อลำดับแรกๆ ต่อจากชื่อบัญชีของเราเสมอ 

4.ระวังบัญชีไลน์ทางการปลอม ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หรือไม่ 

5. ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ที่มีลิงก์แนบมากับข้อความ (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ 

6. ไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่างๆ อย่าง สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคารจริง 

7. ช่วยกันแจ้งเตือนผู้อื่น และกดรายงานบัญชีสแปมที่น่าสงสัย โดยการกดรายงานที่รูปโปรไฟล์ของสมาชิกนั้นๆ แล้วกดปุ่ม รายงานปัญหา 

อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยว่าไลน์ดังกล่าว เป็นบัญชีของอาจารย์จริงหรือไม่ แนะนำให้โทรสอบถามก่อนโอนเงินนะคะ ทั้งนี้หากใครที่ตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน หรือแจ้งความออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่าน เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com สายด่วน บช.สอท. 1441 ค่ะ