
ตม.ไทยโชว์ฝีมือเจ๋ง จับผัว-เมีย ชาวไต้หวัน หลอกลงทุนครั้งใหญ่ 4 พันล้านบาท หลบหนีมานานร่วม 20 ปี นับว่าเป็นการปิดฉากคดีดังจากไต้หวัน
วันนี้ (28 มิ.ย. 66) พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. พร้อมคณะ ได้จัดแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้รับการประสานจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ให้ติดตามผู้ต้องหาตามหมายจับของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) 2 ราย คือ MR.GOLDEN วัย 64 ปี และMRS.MIUKI ภรรยา วัย 57 ปี ชาวไต้หวัน พร้อมพวกกว่า 10 ราย ที่ก่ออาชญากรรมหลอกลวงประชาชน และหลบหนีออกนอกประเทศเป็นเวลามากกว่า 20 ปี
กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 จึงสั่งการให้ชุดสืบสวนหาเบาะแส จนสืบทราบมาว่า ทั้งคู่ได้หลบหนีและคิดอุบายเพื่อปกปิดตัวตน โดยการเดินทางไปที่ประเทศเบลีซ ซึ่งเป็นประเทศขนาดเล็ก ริมทะเลแคริบเบียน ทวีปอเมริกาเหนือ จนได้รับสัญชาติและหนังสือเดินทางของประเทศเบลีซ และทำการาเปลี่ยนชื่อ นามสกุลใหม่ จึงทำให้ยากต่อการติดตาม
จากการตรวจสอบ พบว่าทั้ง 2 ราย เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 61 โดยใช้หนังสือเดินทางประเทศเบลีซ และได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนการตรวจลงตราเป็นประเภท PE โดยเป็นสมาชิก THAILAND PRIVILEGE CARD และถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยในเวลาต่อมา
กระทั่งรู้ว่า ทั้งคู่หลบซ่อนตัวอยู่ในคอนโดหรูแห่งหนึ่งย่านบางนา จึงทำการเฝ้าติดตามและสะกดรอยตาม พบว่าทั้งคู่พยายามหลบหนีที่บริเวณลานจอดรถคอนโดมิเนียมดังกล่าว จึงแสดงตน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและขอทำการตรวจสอบ
เบื้องต้นทั้งคู่รับว่า เป็นบุคคลที่ถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีการจองตั๋วเครื่องบินโดยสารและเก็บสัมภาระเตรียมเดินทางไปสาธารณรัฐสิงคโปร์ สุดท้ายถูกจับกุมก่อน จึงเป็นกาสรปิดฉาก 20 ปี ที่หลบหนีความผิด
สำหรับพฤติการณ์ เบื้องหลังของการกระทำความผิดของทั้งคู่ในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงปี 2543 ซึ่งทั้งคู่ ได้ร่วมกับพวกเปิด บริษัท โดยใช้ชื่อว่า Lien-Chin-Wen holding company ซึ่งยุคนั้นรู้จักกันในชื่อบริษัท Richmon ซึ่งอ้างว่า บริษัทดังกล่าว อยู่ภายใต้องค์กรเจนีวายุโรป เป็นเครือบริษัทการเงินที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสากล
จึงใช้วิธีนี้ในการดึงดูดนักลงทุน ซึ่งมีผลตอบแทนให้นักลงทุนคือจะนักลงทุนจะได้รับใบแจ้งยอดกำไรขาดทุนที่บริษัทได้คำนวณไว้ให้ทุกๆ 2 เดือน โดยสร้างงบการเงิน และงบกำไรขาดทุนปลอม ให้ปรากฏว่าในทุกๆ 2 เดือน มีผลกำไรมากกว่า 4% หรือคิดเป็นก็คืออัตราผลตอบแทนที่ได้รับมากกว่า 24% ต่อปี
แต่ในวันที่ 13 พ.ย. 44 MR.GOLDEN กับพวก ได้แจ้งกับผู้ลงทุนว่า บัญชีบริษัท Richmon ที่ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐลัตเวีย ถูกอายัด ทำให้นักลงทุนไม่มีช่องทางในการเรียกร้องค่าเสียหายและต้นทุนกลับคืนมา แต่เมื่อตรวจสอบพบว่า บริษัทนี้ไม่มีอยู่จริง จึงเป็นการหลอกลวงลงทุนที่มีเหยื่อผู้หลงเชื่อร่วมลงทุนกว่า 4,000 คน และมีเงินที่ถูกหลอกไป มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท นับว่าเป็นการหลอกลวงครั้งใหญ่ที่สุดระดับชาติ ณ ขณะนั้น
ขณะนี้ ชุดสืบสวนและหัวหน้าแผนกประสานงานอาชญากรรม ประจำประเทศไทย กองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติไต้หวัน ร่วมกันสืบสวนขยายผลถึงทรัพย์สินที่ได้มา พร้อมทั้งขั้นตอนการส่งตัวกลับไต้หวัน และนำตัวส่ง กก.3 บก.สส.สตม. เพื่อดำเนินการ ตามกฎหมายต่อไป