ตำรวจไซเบอร์ เปิด 10 งานพาร์ทไทม์ ที่มิจฉาชีพ ใช้หลอกฉกเงิน มากที่สุด

ไม่อยากเงินเกลี้ยงบัญชี ฟังไว้! ตำรวจไซเบอร์ เตือน 10 งานพาร์ทไทม์ ที่มิจฉาชีพนิยมใช้หลอกฉกเงินมากที่สุด ตกเป็นเหยื่อแล้ว 37,900 ราย เสียหายกว่า 4,590 ล้านบาท

นับตั้งแต่การเปิด ศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.65 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ หรือทำภารกิจต่างๆ กว่า 37,900 ราย ความเสียหายรวมกว่า 4,590 ล้านบาท

โดยผ่านหลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็น จากการส่งข้อความสั้น (SMS) หรือการโทรศัพท์ไปหาเหยื่อโดยตรงแจ้งว่าได้รับสิ่งของฟรี หรือผ่านโฆษณาชวนเชื่อตามช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายต่างๆ ซึ่งงานในช่วงแรกจะเป็นง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินในจำนวนเล็กน้อยจริง

จากนั้นจะชวนเข้าไลน์กลุ่มมีงานที่ยากขึ้น หรืออ้างว่าได้เหยื่อรับภารกิจพิเศษ เมื่อทำงานหรือร่วมลงทุนดังกล่าวแล้วจะได้รับค่าคอมมิชชัน หรือผลตอบแทนมากกว่างานช่วงแรก แต่ต้องโอนหรือเติมเงินเข้าระบบเพื่อเป็นการวางมัดจำ หรือไว้เพื่อสำรองทำภารกิจเสียก่อน โดยจะได้รับเงินคืนทั้งหมดเมื่อทำงาน หรือทำภารกิจเสร็จสิ้น ซึ่งจะมีสมาชิกหน้าม้าในกลุ่มจำนวนหนึ่งคอยสร้างความน่าเชื่อถือ

โดยแจ้งว่าเมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้นจะได้รับเงินจริง กระทั่งเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไปหลายครั้ง นอกจากนี้แล้วในแต่ละภารกิจเหยื่อจะต้องโอนเงินที่มีจำนวนเงินมากขึ้นเป็นลำดับ ต้องทำภายในเวลาที่กำหนดเพื่อเร่งให้เหยื่อรีบตัดสินใจไม่ทันได้ระวัง แต่เมื่อเหยื่อจะถอนเงินในระบบกลับแจ้งว่ายังทำภารกิจไม่เสร็จสิ้น หรือทำผิดกติกา

หลักฐานการโอนเงินเหยื่อบันทึกข้อความไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ต้องปลดล็อก โอนหรือเติมเงินมาเพิ่มอีกหลายเท่าตัว ท้ายที่สุดกว่าเหยื่อจะรู้ตัวก็สูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก หรือเป็นการกระทำที่ซ้ำเติมประชาชน เนื่องจากในบางรายเป็นเงินที่ต้องกู้ยืมผู้อื่นมา หรือเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้ายของชีวิต

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. เผยว่า จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 ภารกิจหรืองานเสริมยอดนิยมที่นำมาใช้หลอกลวงประชาชน ดังนี้

1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างสัญลักษณ์ของแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ เช่น Shopee, Lazada, Amazon

​2.กดไลก์ กดถูกใจ บัญชีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook, TikTok, Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์ เป็นต้น

​3.รับชมคลิปวิดีโอเพื่อเพิ่มยอดวิวใน YouTube, TikTok

4.งานรีวิว หรืองานทดลองใช้สินค้าหรือบริการต่างๆ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร

5.งานรับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้

6.บรรจุหรือแพ็กสิ่งของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ

​7.งานฝีมือสามารถทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน

​8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ

​9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก

​10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี

นอกจากนี้ โฆษก บช.สอท. ยังกล่าวว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวยังคงมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่อง โดยมิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ทั้งนี้ เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน จึงหลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาก็ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน 7 ข้อ ดังนี้

​1.เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อย่าได้เข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด อาจมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ

2.หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน

3.หากท่านสงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 หรือ 081-866-3000 ตลอด 24 ชม.

4.หากสมัครทำงานไปแล้ว พบว่ามีการให้วางเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินก่อนจะทำงานได้ ให้ฉุกคิดทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด

5.ไม่โอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา และควรตรวจสอบเลขบัญชี หรือชื่อเจ้าของบัญชีก่อนโอนเงินทุกครั้ง ผ่านเว็บไซต์ Backlistseller.com, chaladohn.com

6.ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะว่ามีการส่งสิ่งของ หรือให้เงินให้ในจำนวนเล็กน้อยก่อน

​7.หากท่านประสงค์ต้องการงานทำสามารถใช้บริการของกรมจัดหางานผ่านเว็บไซต์ ‘smartjob.doe.go.th’

ทั้งนี้ ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย ยังเตือนภัยการหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ผ่าน TikTok ว่า

กลโกงของคนร้าย :

1.มิจฉาชีพใช้โทรศัพท์ โทรหาผู้เสียหายแนะนำตัวว่าโทรมาจาก Tiktok อยากให้ช่วยทำการตลาดโดยกดหัวใจ แล้วจะได้รับเงินผลตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่น

2.ผู้เสียหายหลงเชื่อ มิจฉาชีพจะให้กดหัวใจใน Tiktok จริง แคปหน้าจอส่ง แล้วมิจฉาชีพจ่ายเงินปันผลให้

3.มิจฉาชีพดึงผู้เสียหายเข้ากลุ่มไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนมาก แล้วชวนให้ร่วมลงทุนทำภารกิจ

4.มิจฉาชีพคนถัดมาจะส่งภารกิจมาให้ทำ และยอดเงินจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

5.ผู้เสียหายอยากถอนเงิน จะอ้างว่าทำผิดขั้นตอน ต้องโอนเงินเพื่อปลดล๊อค

6.มิจฉาชีพหาข้ออ้างให้ผู้เสียหายโอนเงินจนหมดตัว

ข้อสังเกต :

1.บัญชีธนาคารที่ใช้โอนเงินเป็นชื่อบัญชีบุคคลธรรมดา ไม่ใช่บัญชีหน่วยงานหรือองค์กร

2.มิจฉาชีพสร้างระบบเพื่อลงทุน มาใช้ประกอบการหลอกลวงเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ

3.URL ของเว็บลงทุนไม่มีความเป็นทางการ

4.มิจฉาชีพมักใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือมาหลอกลวง

ข้อควรระวัง และแนวทางป้องกัน :

1.จงมีสติ ไม่หลงเชื่อ งานง่ายๆได้เงินเยอะ และเร็ว ไม่มีอยู่จริง

2.หากเจอการสมัครงานจากบริษัท ห้างร้านที่มีชื่อเสียง ควรโทรเข้าบริษัทโดยตรงเพื่อเช็คข้อมูลที่ถูกต้อง

3.บัญชีของหน่วยงาน จะมีเครื่องหมายบัญชีทางการที่ผ่านการยืนยันแล้วในแพลตฟอร์ม LINE

4.ควรตรวจสอบชื่อบัญชีก่อนโอนเงินทุกครั้ง หากเป็นชื่อบุคคลธรรมดาส่วนมากจะเป็นบัญชีม้า

5.ท่านสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ Platform การลงทุนได้ที่ URL : https://market.sec.or.th/LicenseCheck/Search

ช่วงนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กวนใจมากๆ อย่างไรขอให้ลูกเพจอีจันทุกคน เพิ่มความระมัดระวังให้มากๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ฝากลูกหลานดูแลและเพิ่มความเข้มงวด เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป