
ราคาน้ำมัน มีข่าวดีต่อเนื่อง โดยวานนี้ (18 ต.ค.66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันการลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศ ให้ได้สัดส่วนใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล ที่ปรับก่อนหน้านี้ ใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ช่วยเหลือผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง (รัฐต้องชดเชย เดือนละ 95 ล้านบาท) 2.ช่วยเหลือผู้ที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และผู้มีรายได้น้อย (รัฐต้องชดเชย เดือนละ 4,000 ล้านบาท และ 3.ลดราคาทั้งระบบและทำให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์
ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ที่ผ่านมา ในข้อ 1 และ 2 ไม่ผ่าน ครม. เพราะ นายพีระพันธุ์ ดึงออกเองเพราะมองว่ายังไม่โดนใจ แล้วเสนอเห็นชอบแนวทางที่ 3 นั่นก็คือการลดราคาน้ำมันเบนซินทุกลิตร โดยจะปรับลดเฉพาะน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 อัตรา 2.50 บาทต่อลิตร เพราะเป็นน้ำมันที่มีต้นทุนเนื้อน้ำมันราคาถูกที่สุด โดยปัจจุบันราคาขาย อยู่ที่ 37.58 บาทต่อลิตร
ดังนั้น หากลดลงมาก็จะอยู่ที่ 35.08 บาทต่อลิตร ซึ่งขึ้นอยู่กับ 2 แนวทาง ไดเแก่ 1.กองทุนน้ำมันเก็บน้อยลง และ 2.ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยจะนำเสนอ เข้าสู่ที่ประชุม ครม. หรือในวันที่ 31 ต.ค.66 เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ส่วนแนวทางลดราคาจะใช้เวลา 1 สัปดาห์จากนี้
นอกเหนือจากระยะต่อไป ที่ต้องไปดูโครงสร้างราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งมีการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมา เพื่อดูว่า 1.ค่าการกลั่น 2.ค่าการตลาด ซึ่งต้องคิดจากบริษัทน้ำมัน ส่วนน้ำมันดีเซลสำหรับภาคการประมง หรือน้ำมันเขียว ยังสามารถที่จะลดราคาได้ถึง 6 บาท โดยกำลังจะยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเกษตรกรและชาวประมง ได้ใช้น้ำมันราคาถูก เพื่อให้เกษตรกรราคาพิเศษแบบเดียวกับประมง ซึ่งต้องยอมรับส่วนหนึ่ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันเถื่อน
อย่างไรก็ดี เรื่องราคาน้ำมันจะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยจากต้นทาง เช่น ราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีความผันผวนเนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ส่วนปลายทางก็คือค่าการกลั่น ค่าการตลาด ที่จะต้องมีการตรวจสอบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ส่วนการค้าเสรีน้ำมันที่เคยให้ข่าวไปนั้น หมายถึงหน่วยงานที่ใช้น้ำมันอย่างกลุ่มขนส่ง ซึ่งต้นทุนสำคัญคือราคาน้ำมัน หากสามารถนำเข้าน้ำมันได้เอง ก็จะสามารถลดต้นทุนได้ ก็จะลดค่าใช้จ่าย ลดราคาสินค้าให้แก่ประชาชนได้ด้วย นอกจากนั้น ยังเตรียมนโยบายเกี่ยวกับน้ำมันสำหรับเกษตรกร เช่นเดียวกับที่มีให้กับกลุ่มชาวประมง
"ผมจะเร่งดำเนินทุกมาตรการ เพื่อ เร่ง ลด ปลด สร้าง นโยบาย มาตรการ กฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน ซึ่งจะเน้นปรับโครงสร้างด้านพลังงาน โดยเฉพาะค่าน้ำมัน จะเข้าไปรื้อโครงสร้างราคาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้มีการตั้งราคาน้ำมันที่เหมาะสม และอาจมีการลดชนิดน้ำมันในอนาคต
รวมทั้งนำนโยบายรัฐบาลทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว มาดำเนินการ ผมเชื่อว่า ผู้บริหารกระทรวงพลังงานทุกท่านมีความรู้ความสามารถ แต่ที่ผ่านมาอาจจะติดเรื่องอุปสรรคในข้อกฎหมาย ซึ่งผมจะเข้ามาแก้ไขหรือจะออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด" นายพีระพันธุ์ กล่าว