สภาพัฒน์ ชงรัฐบาล ดันเที่ยวสายมู ซอฟต์พาวเวอร์ไทย กระตุ้นท่องเที่ยว

วงการมู สุดปัง! ‘สภาพัฒน์’ ชงรัฐบาล ดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทย ดึงดูดท่องเที่ยวทุกมุมโลก

คำว่า ‘มูเตลู’ ถูกนำมาใช้แทนความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยที่มีมาอย่างช้านาน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังผสมผสานกับสิ่งเร้นลับทางธรรมชาติ โหราศาสตร์ ตลอดจนวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังต่างๆ ที่ผู้คนนับถือบูชา

ทั้งนี้ ในการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยว่า มูเตลู ถูกกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐเริ่มให้การสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้มากขึ้น เป็นการท่องเที่ยวมูเตลู หรือการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา (Faith-Based Tourism)

ขณะที่ รายงาน Future Markets Insight 2023 ระบุว่า การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา เช่น การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ การแสวงบุญ และการท่องเที่ยวทางศาสนา มรดกและวัฒนธรรม สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก อย่างเมื่อปี 2565 มีมูลค่า 13.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2576 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 40.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับประเทศไทยจากการคาดการณ์ของ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า เฉพาะการแสวงบุญสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบมากถึง 10,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.36% ต่อมูลค่าการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศในปี 2562


โดยทรัพยากรการท่องเที่ยวมูเตลูของไทย แบ่งเป็น มูเตลูที่เป็นสถานที่ วัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า/เทวสถาน รูปจำลอง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนมูเตลูที่ไม่ใช่สถานที่ เครื่องรางของขลัง พิธีกรรม บุคคล


และด้วยความหลากหลายของทรัพยากรสายมูเตลู สะท้อนการมีพหุวัฒนธรรมซึ่งผสมผสานวัฒนธรรมทางศาสนา และความเชื่อของคนไทย ซึ่งกลายเป็น ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ที่สามารถใช้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ โดยต้องมีการส่งเสริมที่เหมาะสม


ดังนั้น สภาพัฒน์ จึงเสนอแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อนี้ โดยในส่วนของภาครัฐ ต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ อาทิ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง มีนโยบายส่งเสริม วิถีการท่องเที่ยวแบบศาสนา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

ขณะเดียวกัน มีการพัฒนากลยุทธ์การตลาดมูเตลู ด้วยการสร้าง Branding ที่ครอบคลุมทั้งสถานที่ บุคคล และกิจกรรมสายมูเตลู โดยจำเป็นต้องสร้าง Branding ผ่านการจัดทำเรื่องราว (Story) ที่มีความเป็นมาและคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับ และสอดแทรกวัฒนธรรมที่อิงกับมูเตลูในสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่ให้คนต่างชาติสนใจมากขึ้น


กรณีของเมืองเทสซาโลนีกิ ประเทศกรีซ

– จัดทำแผนที่การท่องเที่ยวสายมูเตลูเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่น

– โฆษณาภาพลักษณ์ผ่านสโลแกน 

– สร้างเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของสถานที่

– ออกแบบของที่ระลึก 


อีกทั้ง บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้แต่ละภาคส่วนมีเอกภาพมากขึ้น ส่งเสริมบทบาทองค์กรส่วนท้องถิ่นให้เป็นหน่วยขับเคลื่อนสำคัญในการดึงภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ เพื่อให้มีมาตรฐาน ความหลากหลาย และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน


อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนามีความละเอียดอ่อน ดังนั้น การดำเนินนโยบายจึงต้องมีความระมัดระวัง และควรมีการศึกษาที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงและบิดเบือน ความเชื่อ ควบคู่กับมีมาตรการกำกับดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวงนักท่องเที่ยว โดยใช้ความเชื่อเป็นเครื่องมือ