ส.อ.ท.เบรกรัฐบาลใหม่ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450-600 บาท

ส.อ.ท.เบรกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450-600 บาท หวั่นแรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์ เงินหมุนเวียนในระบบไม่เต็มร้อย เกิดวงจรอุบาทว์ ค่าครองชีพปรับตาม

ด้วยนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง ที่มีแนวโน้มเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ชูการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ อาทิ พรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาททันที ในปี 2566 และปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำทุกปี ขณะที่ พรรคเพื่อไทย มีการเสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ในปี 2570 และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท

วันแรงงานสากล ‘กสม.’ ร่อนสาร หนุนแรงงานต้องเข้าถึงประกันสังคม

ฟากเอกชนผู้มีส่วนได้-เสียจากนโยบายดังกล่าว พอได้ฟังดังนี้ ก็ต้องออกมาฟีดแบคเป็นธรรมดา เริ่มตั้งแต่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำสมุดปกขาว หรือก็คือ ข้อเสนอจากภาคเอกชน เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลใหม่

โดย นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เนื้อหาในสมุดปกขาว จะเป็นเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยที่ลดลงลดลงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งการปรับโครงสร้างกฎระเบียบภาครัฐ 1,000 ฉบับ ที่เคยศึกษาไว้จะช่วยลดงบประมาณได้กว่า 90,000 ล้านบาท

โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ ส.อ.ท.มีความกังวล เพราะพรรคการเมืองมีการหาเสียงไว้จะปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดไปที่ 450-600 บาทต่อวัน จึงควรเน้นการเพิ่มค่าแรงจากทักษะฝีมือแรงงานมากกว่า ควบคู่กับการลดค่าครองชีพด้วย

“รัฐต้องเข้าใจว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องผ่านการพิจารณา โดยไตรภาคีที่มองหลายปัจจัยประกอบ เพราะหากมีการปรับขึ้นค่าแรง แต่ค่าครองชีพไม่ลด จะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ ที่ทำให้ค่าครองชีพปรับขึ้นตาม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่า การขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดด จะลดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) อีกทั้ง อย่าลืมว่าปัจจุบันเราต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจึงตกไปอยู่ในแรงงานกลุ่มนี้ ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เต็ม 100% เพราะแรงงานเหล่านี้จะกันเงินราว 50% ส่งกลับไปยังบ้านเกิด”
นายมนตรี กล่าว

ด้าน นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า มองการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปในเชิงบวกว่า จะดำเนินการได้ ขณะที่ นโยบายของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ก็มีหลักการที่คล้ายกันแตกต่างที่วิธีการทำเท่านั้น ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงเป็นนโยบายหนึ่งที่น่าเป็นห่วง

เพราะหากปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะที่ รายใหญ่มีศักยภาพในการจ่ายอยู่แล้ว แต่จะหันไปพึ่งพาระบบหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกล เพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้น

“ส.อ.ท.ไม่ได้คัดค้านการขึ้นค่าแรง แต่อยากให้ตัวเลขสอดคล้องกับข้อเท็จจริง จึงหวังว่าเมื่อเป็นรัฐบาล จะหารือร่วมกันเพื่อเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจ โดย ส.อ.ท.ยินดีให้ข้อมูลและทำงานร่วมกัน” นายวิวรรธน์ กล่าว

สำหรับ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป

1.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 354 บาทต่อวัน มี 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต และระยอง

2.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 353 บาทต่อวัน มี 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

3.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 345 บาทต่อวัน ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา

4.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 343 บาทต่อวัน ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

5.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 340 บาทต่อวัน มี 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

6.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 338 บาทต่อวัน มี 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม

7.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 335 บาทต่อวัน มี 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์

8.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 332 บาทต่อวัน มี 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี

9.อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 328 บาทต่อวัน มี 5 จังหวัด จังหวัดนราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี

คลิปอีจันแนะนำ
‘พิธา’ ประกาศตั้งรัฐบาลเพื่อประชาชน เคารพเสียงประชาชน