ภาษีความหวาน ขึ้นแน่ 1 เม.ย.นี้ สรรพสามิต เชื่อราคาเครื่องดื่มไม่ขึ้น

กรมสรรพสามิต ดีเดย์ 1 เม.ย.66 ขึ้นภาษีความหวาน มั่นใจไม่กระทบราคาเครื่องดื่ม เพราะธุรกิจปรับสูตรผสมแล้ว

‘ภาษี’ นอกจากเป็นเครื่องมือสําคัญในการแสวงหารายได้ของรัฐ ยังมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคม รวมถึงการส่งเสริมมาตรการต่างๆ ซึ่งปัจจุบันพบว่า ภาษีถูกนํามาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต พ.ศ.2560 บังคับใช้ภาษีความหวาน รวมถึงภาษีความเค็ม ที่กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษา

ชัดๆ ก็คือ ใครที่หวานมาก เค็มมากก็เก็บภาษีมาก หวานน้อย เค็มน้อยก็เก็บน้อย เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับลดปริมาณน้ำตาล และโซเดียมในสินค้า

ซึ่งล่าสุด นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุม กรมสรรพสามิต เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66 กรมสรรพสามิต จะเริ่มปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการคงภาษี 6 เดือน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบ วันที่ 1 ต.ค.65-31 มี.ค.66

ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต โดยลดส่วนผสมจากน้ำตาลลง จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการดูแลสุขภาพของไทยให้ห่างไกลจากโรคอ้วน เบาหวาน และความดัน

นายณัฐกร กล่าวว่า สำหรับภาษีความหวานนี้ เป็นระยะที่ 3 ที่จะเริ่มเก็บตั้งแต่ 1 เม.ย.66- 31 มี.ค.68 มีอัตรา แบ่งเป็น

ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร 

ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร 

ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร 

ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร 

ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร

“ภาษีความหวาน จะปรับขึ้นเป็นอัตราก้าวหน้าทุกๆ 2 ปี ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับตัวในการผลิต โดยลดความหวานลงจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มที่มีสารความหวาน 10-14 กรัมต่อลิตร จะเสียภาษีเพิ่มจาก 1 บาท เป็น 3 บาทต่อลิตร ซึ่งเบื้องต้น ขณะนี้พบว่า ผู้ผลิตทยอยลดปริมาณน้ำตาลลงแล้ว ก็จะไม่ทำให้

มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น” นายณัฐกร กล่าว

นายณัฐกร เชื่อว่า การขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลรอบนี้ จะไม่กระทบให้ราคาเครื่องดื่มที่มีความหวาน หรือน้ำอัดลมราคาเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นภาระต่อผู้บริโภค เนื่องจากขณะนี้ผู้ผลิตสินค้าได้ทยอยปรับตัว ลดส่วนผสมน้ำตาลลง หรือหันไปใช้น้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานอื่นๆ ผสมกับน้ำตาลธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพจะน้อยกว่าแทน

ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง เครื่องดื่มส่วนใหญ่จากที่เคยมีความหวานจากน้ำตาลเฉลี่ย 10 กว่ากรัมต่อลิตร ขณะนี้ลดเหลือ 7.3 กรัมต่อลิตร ซึ่งถือเป็นไปตามเป้าหมายของกรมฯ ที่ต้องการให้สินค้ามีความหวานลดลง เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังพบว่าเครื่องดื่มที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 200 กว่ารายการ ล่าสุดเมื่อเดือนม.ค.66 เพิ่มเป็น 1,800 รายการ หรือเพิ่มมากกว่าเดิม 9 เท่าตัว

ดังนั้น จึงเชื่อว่า เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่า 6 กรัมกำลังมีมากขึ้น ขณะที่ น้ำอัดลมจากที่เคยมีความหวานมากๆ เกิน 10 กรัมต่อลิตร ก็เหลือความหวานเพียง 7.3-7.5 กรัมต่อลิตรในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน มองว่า กรณีกระทรวงอุตสาหกรรม ขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานอีก กิโลกรัมละ 1.75 บาท จะยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ รีบปรับสูตรการผลิตโดยลดน้ำตาลลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า การเก็บภาษีความหวาน มีส่วนทำให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สอดคล้องปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มคนไทยปี 2561-62 กินน้อยลงหนึ่งคนกิน 85 กรัมลดลงจาก 100

ทั้งนี้ นอกจากจะควบคุมปริมาณน้ำตาลแล้ว ก็อย่าลืมออกกำลังกาย เพื่อมีสุขภาพและรูปร่างที่ดีอย่างยั่งยืนให้ครบถ้วนทุกมิติ นะคะทู๊กคน

คลิปอีจันแนะนำ
ฟังให้ชัด! ชูวิทย์ฝากถึงทนายตั้ม