
ค่าไฟเดือน เม.ย.66 แพงขึ้นผิดหูผิดตา จนกลายเป็นไวรัล และถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ บางบ้านที่ใช้จริง และขึ้นจริงก็ว่ากันไป แต่ก็มีหลายบ้าน ที่ไม่ได้ใช้จริงแต่ขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีบางบ้านที่ใช้ไฟแบบไม่ยั้ง แต่ค่าไฟกลับเท่าเดิม และมิหนำซ้ำ ลดลงอีกด้วย
แต่ยังไงก็เบากว่า ค่าไฟรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.66 แน่นอน เพราะเดิม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที เป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย
ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้ไฟบ้าน ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นจาก 4.72 บาทต่อหน่วย เป็น 4.77 บาทต่อหน่วย และภาพรวมค่าไฟบ้าน ปรับขึ้น หน่วยละ 1.05% ขณะที่ ภาคธุรกิจเอกชนจากที่เคยจ่าย 5.33 บาทต่อหน่วย จะเหลือ 4.77 บาทต่อหน่วย
แต่ถัดมา กกพ. ก็ทนเสียงบ่นไม่ไหว มีมติปรับลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดใหม่ สำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.66 ลง 7 สตางค์ต่อหน่วย จากมติเดิม 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย
ซึ่งถือเป็นการลดลง 2 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันสำหรับเดือนม.ค.-เม.ย.66 อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอ โดยไม่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง
ขณะที่ ก่อนหน้านี้ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ผลทบทวนค่าเอฟทีงวด (เดือน พ.ค.-ก.ย.) ปี 66 ทำให้อัตราค่าไฟของไทยอยู่ที่ 4.70 บาท/หน่วย
ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของไทยจะเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน ตาม GlobalPetrolPrices รองจากประเทศสิงคโปร์ที่มีอัตราคาไฟสูงเป็นอันดับ 1 อัตรา 6.22 บาทต่อหน่วย อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 6.04 บาทต่อหน่วย อันดับ 3 กัมพูชา 5.12 บาทต่อหน่วย
ส่วนประเทศที่มีอัตราค่าไฟต่ำกว่าไทย คือ อินโดนีเซีย 3.33 บาทต่อหน่วย เวียดนาม 2.75 บาทต่อหน่วย เมียนมา 2.70 บาทต่อหน่วย มาเลเซีย 1.71 บาทต่อหน่วย และลาว 1.71 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับลดค่าไฟ เหลือ 4.45 บาท/หน่วย เพราะมองว่าประเด็นค่าไฟฟ้า เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนที่จะเข้ามาในอาเซียน