ส่อง 5 แบงก์รัฐ ขึ้นดอกเบี้ยรอบเงินฝาก-กู้ทุกประเภท เม.ย.66 นี้

รวม 5 ธนาคารของรัฐ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ทุกประเภท เดือนเม.ย.66 นี้

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี เมื่อวันที่ 29 มี.ค.66 ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.66 ที่ผ่านมา มีสถาบันการเงินของรัฐ 5 แห่ง ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย

เริ่มเลย 1 เม.ย.66 ธ.ก.ส.ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก เงินกู้ทุกประเภท

เริ่มตั้งแต่เจ้าแรก ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยว่า ธ.ก.ส. มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.60% ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มผลตอบแทนให้ผู้ฝากได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) จาก 6.625% ปรับขึ้นเป็น 6.875% อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี (MLR) จาก 5.125% ปรับขึ้นเป็น 5.375% และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 6.50% ปรับขึ้นเป็น 6.750% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.66 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแบ่งเบาและลดภาระของเกษตรกร ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ธ.ก.ส. ยังมีสินเชื่อในโครงการพิเศษต่างๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยปกติ เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01% สินเชื่อเอสเอ็มเสริมแกร่ง สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ย 4% เป็นต้น

ถัดมา คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยนายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ระบุว่า ธอส.มีมติปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ 0.05-0.40% ต่อปี ขณะเดียวกันธนาคารได้ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.66 เป็นต้นไป

ขณะที่ ธนาคารออมสิน โดย นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยว่า ธนาคารจึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.40% ต่อปี เพื่อเป็นการส่งเสริมการออมแก่ลูกค้าบุคคลธรรมดารายย่อย และดูแลผู้ฝากเงินให้ได้รับประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเป็นการปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน และ 36 เดือน เพิ่มขึ้น 0.05-0.20% ต่อปี และเงินฝากประจำรายเดือนยกเว้นภาษี ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.40% ต่อปี 

รวมถึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทในอัตรา 0.25% ต่อปี ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยของตลาดด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยคำนึงถึงผลกระทบและเพื่อให้ลูกค้ามีระยะเวลาการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามทิศทางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.66 เป็นต้นไป

ด้าน ธนาคารกรุงไทย โดย นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เผยว่า ธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.35% ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมให้ผู้ฝากเงินมีรายได้เพิ่มขึ้น ในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี โดยปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เพิ่มขึ้น 0.25% ต่อปี เป็น 6.60% ต่อปี 

ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) เพิ่มขึ้น 0.20% ต่อปี เป็น 7.07% ต่อปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) 0.25% ต่อปี เป็น 7.12%ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.66 เป็นต้นไป

ขณะที่  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ โดย นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า ธนาคารได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย ไพรม์ เรต 0.25% ต่อปี จาก 6.00% ต่อปี เป็น 6.25% ต่อปี โดยมี ผลตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.66 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการยืดเวลาขึ้นดอกเบี้ยออกไปจากต้นเดือนไปเป็นกลางเดือน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาปรับตัวและบริหารจัดการต้นทุนเพื่อรับมือกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ นั่นเอง

คลิปแนะนำอีจัน
หนุ่มน้อย อวยพรย่าทวดเเบบไม่เหมือนใคร