
เวลา 11.30 น. วันนี้ (21 พ.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง และเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ณ อาคารศูนย์ควบคุมการเดินรถ รถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ตั้งแต่วันนี้ หลังเวลา 15.30 น.จากนั้น ตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันที่ 18 ธ.ค.66 เป็นต้นไป จะให้บริการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเก็บค่าโดยสาร 15-45 บาท แต่ขณะที่ 'สภาองค์กรของผู้บริโภค' เสนอรัฐบาลเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาท เท่ากับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง เพื่อความเป็นธรรม และหลีกเลี่ยงการคิดราคาแพงเกินไปเหมือนสายสีเหลือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทั้งนี้ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่เริ่มต้น 15-45 บาทต่อเที่ยว ถูกมองว่าแพงเกินไปสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนคล้ายกับปัญหาค่าโดยสารสูงของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่เคยเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของสภาผู้บริโภคและนักวิชาการชี้ว่า ต้นทุนเฉลี่ยการเดินทางต่อคนต่อเที่ยวในช่วงปี 2557-2562 อยู่ระหว่าง 10.10-16.30 บาท โดยขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายแต่ละปี และการศึกษาของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันยังยืนยันว่าค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 11-13 บาทต่อคนต่อเที่ยว
ซึ่งข้อมูลจากโครงการศึกษาของ 'กรมการขนส่งทางราง' แสดงว่า ต้นทุนเฉลี่ยระบบรถไฟฟ้าต่อผู้โดยสาร (30 ปี) สำหรับ Heavy rail อยู่ที่ 14.31 บาท และสำหรับ LRT หรือ Monorail อยู่ที่ 11.67 บาท
ด้วยข้อมูลนี้ 'สภาองค์กรของผู้บริโภค' เห็นว่า การกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู สูงสุดที่ 20 บาทต่อเที่ยวเทียบเท่ากับสายสีแดงและสีม่วง เป็นราคาที่เหมาะสมและสามารถครอบคลุมค่าบริหารจัดการของเอกชนได้โดยไม่ต้องใช้เงินรัฐบาลหรือขาดทุน เนื่องจากสายสีชมพูวิ่งผ่านจุดเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่ง กระทรวงคมนาคม คาดว่าหลังจากเปิดทดลองใช้ฟรี จะมีผู้โดยสารกว่า 1 แสนคนต่อวัน และเมื่อเริ่มเก็บค่าโดยสาร จำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อวัน
เพื่อให้รถไฟฟ้าสีชมพูเป็นบริการขนส่งสาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ทุกวัน 'สภาองค์กรของผู้บริโภค' เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากำหนดราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพูไม่เกิน 20 บาท ซึ่งเท่ากับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง
ด้านข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม ในช่วง 1 เดือนของการนำนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทมาใช้ พบว่าปริมาณผู้โดยสารของรถไฟชานเมืองสายสีแดงเพิ่มขึ้น 10.47% ในวันทำงาน และ 23.84% ในวันหยุด โดยมีผู้โดยสารมากที่สุด 34,018 คน ในวันที่ 27 ต.ค.66 ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้น 4.72% ในวันทำงาน และ 13.88% ในวันหยุด โดยมีผู้โดยสารมากที่สุด 76,926 คน ในวันที่ 7 พ.ย.66
นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทได้สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถยนต์และเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง ค่าเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ค่าความสุข ความสูญเสียจากการจราจร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมจากการลดการใช้รถยนต์และเพิ่มการใช้รถไฟฟ้าคิดเป็น 79.35 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 952.23 ล้านบาทต่อปี