
“อย่าใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน – Don’t put all your eggs in one basket”
คำง่ายๆที่สื่อความหมายอย่างชัดเจนกับการเปรียบเปรยในเรื่องการลงทุน นั่นคือ เราไม่ควรนำเงินของเราทั้งหมดลงทุนไปกับสิ่ง ๆ เดียว แต่ควรจะกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เข้าใจ พร้อมรับความเสี่ยงได้ โดยปรับให้เหมาะสมกับเป้าหมายและรูปแบบการออมที่เหมาะสมต่อตัวคุณเอง
โดยข้อมูลจากตลาดหุ้นไทยสำหรับเรื่องหลักของการกระจายความเสี่ยง หรือที่เรียกกันว่า "Diversification" ซึ่งเป็นหลักการลงทุนเบื้องต้นที่นักลงทุน ทุกคนมักจะได้ยินได้รู้จักในการลงทุน คือการอย่าใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน หากตะกร้านั้นเป็นอะไรไป ไข่ก็อาจเสียหายทั้งหมด
ทั้งนี้สินทรัพย์ทางการเงินทุกอย่างมีความเสี่ยงไม่แน่นอนของผลตอบแทนเกิดขึ้นเสมอ การกระจายความเสี่ยงอาจลดอัตราผลตอบแทนลงก็จริงๆ แต่สิ่งที่ลดลงด้วยก็คือ “ ความเสี่ยง ” ซึ่งการเปรียบไข่เป็นเงินลงทุน การกระจายด้วยการนำไข่ไปใส่ในหลายๆ ตะกร้า ก็เปรียบเสมือนกับการนำเงินลงทุนกระจายไปในการลงทุนในหลายรูปแบบ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก ทองคำ
อสังหาริมทรัพย์ เพราะเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันกับตะกร้าใบใดใบหนึ่ง อย่างน้อย เราก็ยังมีไข่ในตะกร้าใบอื่นๆ เหลืออยู่ เป็นหลักประกันความเสี่ยงนั้นเอง
“กระจายไข่หลายตะกร้า” หรือ กระจายความเสี่ยง
ฉะนั้นผลตอบแทนที่จะได้ต้องบรรลุเป้าหมายการลงทุน ไม่งั้นจะถือว่ากระจายความเสี่ยงได้ไม่ดีพอ เราจึงควรแบ่งกลุ่มการลงทุนตามระดับความเสี่ยง และศึกษาว่าเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน จึงค่อยเลือกลงทุนให้เหมาะสม การจะมุ่งสู่ล้านที่ 6 ต่อไป จึงต้องอาศัยการศึกษาเรียนรู้ และเข้าใจระดับความเสี่ยงของการลงทุนแต่ละประเภท
• การกระจายการลงทุนภายในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน เช่น ผู้ลงทุนในหุ้นรายตัว อาจจะกระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนในหุ้นแต่ละอุตสาหกรรม หากอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเกิดมีปัญหา ผู้ลงทุนจะไม่ได้ผลกระทบมากนัก เพราะยังเหลืออุตสาหกรรมอื่นที่ยังดีอยู่ หรือผู้ลงทุนในตราสารหนี้ ก็อาจจะมีการกระจายการถือตราสารหนี้หลายฉบับระหว่างผู้ออกตราสารภาครัฐกับภาคเอกชน
• Asset Allocation คือ การกระจายระหว่างประเภทสินทรัพย์ โดยที่ผู้ลงทุนอาจกระจายเงินทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน หรือคนละประเภทสินทรัพย์ เช่น เงินสด ตราสารหนี้ ตราสารทุน อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น เรียกอีกอย่างว่าการกระจายเงินลงทุนรูปพีระมิด” หรือที่เรียกว่า “พีระมิดการลงทุน” (Investment Pyramid) ซึ่งจะเป็นการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ (Asset Class) โดยฐานพีระมิดจะเป็นกลุ่มสินทรัพย์ที่มี “ความเสี่ยงต่ำ” ไปจนถึงยอดพีระมิดที่เป็นสินทรัพย์ที่มี “ความเสี่ยงสูง” ดังคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว”
• Country Allocation หรือ International Diversification คือ การกระจายข้ามประเทศ ซึ่งผู้ลงทุนอาจกระจายเงินลงทุนไปยังตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ตลาดประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets) หรือทั่วโลก (Global) เพราะในบางครั้งประเทศไทยตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ หรือประเทศโซนเอเชียกำลังเป็นขาลง แต่ยังมีประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือภูมิภาคอื่นที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเหมาะแก่การลงทุน
ซึ่งคำแนะนำจากตลาดหุ้นไทย เราจะเห็นได้ว่าการกระจายการลงทุนภายในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน หรือการกระจายระหว่างประเภทสินทรัพย์คงไม่เพียงพอ เราจำเป็นที่จะต้องมีการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศด้วย อย่างเช่น แทนที่จะลงทุนในหุ้นประเทศเดียว ก็กระจายไปลงทุนในหุ้นของประเทศอื่นๆ ด้วย โดยในระหว่างเส้นทางการลงทุน หากหุ้นของแต่ละประเทศ เคลื่อนไหวแตกต่างกันบ้าง ก็จะได้ประโยชน์จากการกระจายการลงทุน
แต่ก็ต้องคำนึงและยอมรับปัญหาของวิธีนี้
ลงทุนหลายอย่างเกินไป ดูแลได้ไม่ทั่วถึง หรือ อาจดูข้อมูลทั้งหมดไม่ไหว
ไม่ได้ผลตอบแทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะหุ้นตัวที่โตมาก เราก็ใส่เงินไปไม่เยอะ แต่ในทางกลับกันก็จะเสียไม่เยอะเช่นกัน เพราะตัวที่ติดลบ เราก็ไม่ได้ลงเงินมาก
โดยสรุปแล้ว ก่อนที่จะเดินไปหยิบไข่ลงตะกร้า ให้พิจารณาถึงจุดหมายปลายทางของเราก่อนว่ากำลังจะเดินไปที่ไหน แล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะหยิบไข่ใบไหน ใส่ตะกร้าแบบไหน เพื่อให้ไปถึงที่หมายโดยปลอดภัย ที่สำคัญเราต้องคอยประคบประหงมให้ดีอย่าให้ไข่ตกแตกระหว่างทาง เพื่อที่ว่า สุดท้าย ไข่ที่เราถือมาจะได้กลายเป็น “ไข่ทองคำ”
อ้างอิง @wealthcreationpage · ที่ปรึกษาทางการเงิน , สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (tfpa) , finnomena , กองทุนการออมแห่งชาติ - กอช. , ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย