
เปิดเหตุผลที่ คณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เสนอปรับเกณฑ์ใหม่ 3 ข้อ ให้คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ชุดใหญ่ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พิจารณา ซึ่งเบื้องต้นตอนนี้ยังไม่มีกำหนดวันประชุมที่ชัดเจน
โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า เนื่องจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ยื่นข้อเสนอให้ดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่มีอยู่ราว 15-16 ล้านคน เพราะมองว่าภาพทั่วไปของเศรษฐกิจและการบริโภคเริ่มฟื้นตัวแล้ว
แต่มีความเห็นต่างกันในการประชุมอนุกรรมการ เพราะมองว่าประชาชนยังมีความเดือดร้อน และรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ว่าด้วยปัญหาเศรษฐกิจ หากใช้เงินงบประมาณลงไปเพียง 1.5 แสนล้านบาท อาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ
ทั้งนี้ เมื่อกำหนดเกณฑ์เลือกกลุ่มเป้าหมายคนรวย จะต้องพิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีรายได้ 25,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากในบัญชี 100,000 บาท และผู้ที่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากในบัญชี 500,000 บาท โดยตัวเลขนี้เป็นข้อมูลที่ภาครัฐ แบ่งตามความเหมาะสม
"การปรับเกณฑ์แจกเงินดิจิทัล ต้องการฟังเสียงจากนักวิชาการและประชาชนว่าควรปรับปรุงอย่างไร ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ต.ค.66 ที่ผ่านมานั้น มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม ซึ่งได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ และไม่ติดใจกับการตั้งเป้าตัดสิทธิคนรวย และสนับสนุนให้เดินหน้าต่อไป เพราะการเมืองก็เป็นเช่นนี้" นายจุลพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ ยังระบุว่า หากจำเป็นต้องตัดกลุ่มคนรวยออก จะต้องใช้เกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากการแบ่งกลุ่มที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ การใช้เกณฑ์รายได้จากการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร และเงินฝากในบัญชีเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่มีกลไกการตรวจสอบ ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ที่ดิน หุ้น มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงไม่เหมาะสมในการใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มคนรวย
ขณะเดียวกัน การดูเกณฑ์รายได้ควรมีเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยต้องพิจารณารายละเอียดเพื่อให้สรุปข้อสรุปที่เหมาะสม โดยไม่รวมสินทรัพย์อื่นๆ เช่น สลากออมทรัพย์ และพันธบัตร ยืนยันว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเกิดขึ้นแน่นอน 100% ซึ่งถ้าให้ผมเลือก ก็ต้องเลือกดูแลประชาชนทั้ง 49 ล้านคน หรือตัดออกไปแค่คนมีรายได้เกิน 50,000 บาท แต่สุดท้ายเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหญ่ต้องตัดสินใจ อย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุด
ส่วนการใช้แหล่งที่มาของงบประมาณ วางเป้าหมายใช้งบประมาณเป็นหลัก ผ่านการตั้งงบผูกพันนั้น ได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณถึงข้อกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณนั้นไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องรอคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งการดำเนินการจะต้องดูให้ละเอียด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: