เงินเฟ้อไทย ชะลอตัวต่ำสุดรอบ 15 เดือน ติดอันดับ 20 ของโลก

กระทรวงพาณิชย์ เผย เงินเฟ้อไทย เดือน มี.ค.สูงขึ้น แต่ชะลอตัวต่ำสุดรอบ 15 เดือน ติดอันดับ 20 ของโลก

คำว่า ‘เงินเฟ้อ’ ที่หลายคนคงได้ยินกันบ่อยๆ นั่นก็คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ค่าเงินมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้การจะซื้อของชิ้นเดิมนั้นต้องใช้เงินมากกว่าเดิม แปลง่ายๆ อีกแบบก็คือของแพงขึ้นนั่นเอง

และหากเงินเฟ้อมากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของเรา เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่รายได้กลับเท่าเดิม เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ทุกคนอาจลองมองย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ที่ก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 บาท แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นไปหลายเท่า

ซึ่งล่าสุด นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนมีนาคม 2566 เท่ากับ 107.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.79 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 2.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน 

สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารที่ราคาชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน 

นอกจากนี้ ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว สำหรับเฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 3.88%

ทั้งนี้ เมื่อเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 20 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 2.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ในเดือนนี้ เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ตามราคาสินค้าทั้งใน

หมวดอาหาร และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ดังนี้

• หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.22% ได้แก่

– กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 4.93% (ข้าวสารเจ้า ขนมอบ ข้าวสารเหนียว)

– กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 4.40% (เนื้อสุกร ไก่สด ปลาทู)

– กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 5.99% (ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง นมสด)

– กลุ่มผักสด สูงขึ้น 11.93% (มะนาว กะหล่ำปลี แตงกวา)

– กลุ่มผลไม้สด สูงขึ้น 9.35% (แตงโม ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง)

– กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 1.27% (ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ซอสหอยนางรม)

– กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 4.04% (กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม กาแฟผงสำเร็จรูป)

– กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้น 4.51% (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง/ข้าวกล่อง)

– กลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้าน สูงขึ้น 3.65% (อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเช้า อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง))

• หมวดสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.22% ได้แก่

– หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.26% (เสื้อยืดสตรี เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล ค่าจ้างซักรีด)

– หมวดเคหสถาน สูงขึ้น 3.16% (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าเช่าบ้าน)

– หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 2.03% (ค่าแต่งผมชาย ยาสีฟัน สบู่ถูตัว)

– หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้น 1.46% (ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา)

– หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.69% (เบียร์ ไวน์)

– ขณะที่หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ลดลง 0.70% (น้ำมันเชื้อเพลิง)

ขณะที่ เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นเล็กน้อย 1.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน

ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2566 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลง 0.27% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน และไตรมาสที่ 1 ปี 2566 (ม.ค.-มี.ค. 2566) เทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน สูงขึ้น 3.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน ขณะที่ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้น 0.05% เทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน

ที่เรามักได้ยินอยู่เสมอกับคำพูดที่ว่า เหรียญมักมีสองด้าน ดีและไม่ดี เงินเฟ้อก็เช่นกัน เพราะถ้ารักษาให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะจะดีต่อสภาวะเศรษฐกิจ แต่ถ้าเงินเฟ้อมากเกินไปก็จะเป็นปัญหาแก่ประชาชนทั่วไป ที่ต้องคอยหาแนวตั้งรับกับภาวะเงินเฟ้อเหล่านี้ให้ได้เพื่อปากท้อง และความอยู่รอด

คลิปแนะนำอีจัน
หนุ่มน้อย อวยพรย่าทวดเเบบไม่เหมือนใคร