กนง. คาด GDP ไทยปีนี้ ติดลบ 5.3% เซ่นพิษโควิด-19 แย่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

กนง. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 5.3 ผลพวงจากโควิด-19 แย่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540

25 มีนาคม 2563 มีรายงานจาก เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า คณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) มีการลงมติเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผลปรากฏว่าคณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราเดิมไว้ที่ร้อยละ 0.75 ส่วนอีก 2 เสียง เห็นควรว่าให้ลดลงร้อยละ 0.25 ต่อปี

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ อย่างไรก็ดี ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ายังมีความรุนแรง รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้ว รวมทั้งจะต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมเพิ่มเติม

ทั้งนี้จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นพ้องว่าต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี กรรมการ 2 ท่านเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกร้อยละ 0.25 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวแรง เนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของ COVID-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายประเทศ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น เป็นผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว

ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19

นอกจากนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานที่ลดลงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว

ทั้งนี้ คณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ประสิทธิผลของมาตรการดูแลและเยียวยาของภาครัฐ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ ตลาดเงินของไทย โดยเฉพาะเรื่องตราสารหนี้นั้นดีขึ้น หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สนับสนุนสภาพคล่องในตลาดเงิน แต่ก็ต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ส่วนระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ก็อาจจะมีจุดเปราะบางในบางจุด เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี

ด้าน นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน เปิดเผยว่า ในปีนี้ กนง. มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 5.3 ก่อนที่จะขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 3.0 ในปี 2564 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญอยู่ที่

1.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดตัวร้อยละ 60
2.การส่งออกหดตัวร้อยละ 8.8
3.การบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 1.5
4.การลงทุนหดตัวร้อยละ 4.3

ทั้งนี้ รายงานระบุด้วยว่า ในปี 2541 สถิติจีดีพีไทยติดลบร้อยละ 7.6 แต่ในปีนี้สถิติจีดีพีของไทยที่คาดไว้มีแนวโน้มเป็นตัวเลขที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540