'กรมสรรพากร' เปิดฟังความเห็น เก็บภาษีคนไทยเที่ยวนอก ครั้งละ 1,000 บาท
'ภาษีอากร' เป็นรายได้หลักของรัฐบาล ซึ่งแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่จัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่างๆ และผลักภาระภาษีให้ผู้อื่นไม่ได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
และ 2.ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่จัดเก็บจากผู้บริโภค ซึ่งเป็นการผลักภาระทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับผู้ซื้อหรือผู้บริโภค เป็นผู้รับภาระภาษีแทนผู้ขายเช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีสรรพสามิต (สินค้าฟุ่มเฟือย) ภาษีศุลกากร (นำเข้า-ส่งออก)
ซึ่งเมื่อเดือน เม.ย.66 ที่ผ่านมา นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-มี.ค.66) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ อยู่ที่ 1,163,599 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 95,084 ล้านบาท หรือ 8.9% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.9%
ทั้งนี้ หน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ 1.กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจ
2.ส่วนราชการอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุน หรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM
3.รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้เหลื่อมจากปีงบประมาณก่อนหน้า และ 4.กรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวได้ดีประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี
ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษของส่วนราชการอื่น และกรมศุลกากร ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิสูงกว่าประมาณการ 61,673 ล้านบาท หรือ 5.8% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.8%
ขณะที่ 'กรมสรรพากร' จัดเก็บรายได้ 6 เดือนแรกอยู่ที่ 915,222 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 62,521 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.3% และสูงกว่าประมาณการ 95,211 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 11.6%
ส่วน 'กรมสรรพสามิต' เก็บรายได้จำนวน 237,640 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 38,812 ล้านบาท หรือลดลง 14% และต่ำกว่าประมาณการ 43,685 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 15.5%
ซึ่งการจัดเก็บรายได้ของ 'กรมสรรพสามิต' ต่ำกว่าประมาณการ จากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นการชั่วคราว จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง
และ 'กรมศุลกากร' เก็บได้ 67,322 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 14,282 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.9% และสูงกว่าประมาณการ 14,622 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 27.7%
ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ ที่ของแพง ค่าแรงถูก แต่การยื่นภาษีและเสียภาษีเป็นหน้าที่หลักของทุกคน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ มีกระแสข่าวว่า 'กรมสรรพากร' เตรียมจะเก็บภาษีเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยเก็บครั้งละ 1,000 บาทต่อคน สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารไปต่างประเทศ และคนละ 500 บาท เมื่อเดินทางด้วยรถยนต์หรือเรือ
เนื่องจาก 'กรมสรรพากร' ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ระหว่างวันที่ 3-17 พ.ค.66
ซึ่งถัดมา นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ได้ออกมาชี้แจงว่า กรมสรรพากร เปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ร.ก.ภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบความเหมาะสมของเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวในด้านต่างๆ เท่านั้น
และเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ม.ค.64 ที่ได้รับทราบและเห็นชอบการดำเนินการ เพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักเกณฑ์การจัดทําร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ไม่ได้เป็นการเตรียมการที่จะจัดเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด
แม้กฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.34 (อ้างอิง กฎกระทรวงเพื่อยกเว้นภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร) พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 กำหนดให้กรมสรรพากรยังคงมีหน้าที่ ที่ต้องดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในระบบกลางตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
สำหรับบทลงโทษ หากหลีกเลี่ยงการเสียภาษี คือ เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า และเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน หรือเศษของเดือน โดยไม่รวมเบี้ยปรับ นอกจากนี้ยังมีโทษทางอาญา จําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท
สําหรับผู้ประกอบการขนส่งที่รับชําระภาษีการเดินทางจากผู้เสียภาษีแล้ว แต่ไม่นําส่งภาษี ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกําหนด ต้องรับโทษ คือ เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า และเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องเสียโดยไม่รวมเบี้ยปรับ สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ ผู้ที่มีสัญชาติไทย เดินทางออกไปจากประเทศ ไม่ว่าผู้เดินทางจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ เว้นแต่จะได้รับยกเว้นตามกฎหมาย
ลูกเพจ 'อีจัน' อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง อย่าลืมแวะเข้าไปแสดงความคิดเห็นที่เว็บไซต์ของ 'กรมสรรพากร' ภายในเวลาที่กำหนดกันเยอะๆ นะคะ