ต้องจบที่ ‘แอม ไซยาไนด์’ กรมโรงงานฯ เตรียมออกกฎ จะซื้อต้องลงทะเบียน

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมออกเงื่อนไข ซื้อ’ไซยาไนด์’ ต้องลงทะเบียน ปิดช่องโหว่ซื้อง่ายใช้ผิดทาง

สารพิษไซยาไนด์ ชื่อกระฉ่อน เพราะถูกนำไปใช้ก่อเหตุฆ่าผู้อื่นในหลายรูปแบบ ซึ่งผู้ต้องหาคือ นางสรารัตน์ หรือแอม รังสิวุฒาภรณ์ อายุ 36 ปี หรือแอม และมีเหยื่อเสียชีวิต 14 ศพ รอดชีวิต 1 ราย รวม 15 ราย นำไปสู่การออกหมายจับ 14 คดี ยังมีอีก 2-3 คดีน่าสงสัย และต่อมามีการออกหมายจับ พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ รองผู้กำกับอ๊อฟ อดีตสามีแอม ในข้อหาร่วมกันรับของโจร 

ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารราชการปลอม และมีคำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน

สำหรับ ‘สารไซยาไนด์’ ส่วนใหญ่นำไปใช้ในร้านทองและในภาคอุตสาหกรรม และหากการสั่งซื้อไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม (กก.) หรือ 1 ตัน ไม่ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า แอมมีการสั่งซื้อทางออนไลน์จากบริษัทแห่งหนึ่ง ย่านลาดกระบัง และยังมีบุคคลอื่นกว่า 100 ราย  ทำให้ตำรวจต้องเรียกสอบปากคำบุคคลทั้งหมดว่านำไปใช้ในเรื่องใด

และหนึ่งในนั้น คือ นักแสดงสาว ไอซ์ ปรีชญา พงษ์ธนานิกร ซึ่งเธอยืนยัน ผ่านรายการโหนกระแสว่า ตั้งใจซื้อมาเพื่อต้องการใช้กำจัดสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์มีพิษที่ชอบเข้ามาในบ้าน

ขณะที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสารเคมีและวัตถุอันตรายในกิจการอุตสาหกรรม โดย นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เผยว่า กรมโรงงาน ได้หารือร่วมกับ พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถึงแนวทางการควบคุมใช้สารไซยาไนด์ ให้ถึงกลุ่มผู้ใช้รายย่อยว่า นำไปทำอะไร 

เพิ่มเติมจากกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดให้ร้านค้าปลีกรายใด ครอบครองสารเคมีอันตรายเกิน 1,000 กิโลกรัม (กก.) จะต้องรายงานมายังกรมฯ ต่อไป อาจจะให้ร้านค้าปลีกทุกราย ที่จำหน่ายสารโซเดียมไซยาไนด์ โพแทสเซียมไซยาไนด์ ให้ผู้ซื้อรายย่อยรายใด

ซึ่งรูปแบบต้องลงทะเบียนคล้ายกับซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ ให้ระบุว่า นำไปใช้เพื่ออะไร อาทิ นำไปในร้านชุบเงินชุบทอง หรือใช้ในห้องแล็บ หากหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าจะประกาศเงื่อนไขการใช้สารไซยาไนด์ ภายในสัปดาห์หน้า

นายจุลพงษ์ กล่าวว่า ไทยผลิตสารไซยาไนด์ไม่ได้เอง ต้องนำเข้าเท่านั้น ปัจจุบันมีผู้นำเข้าสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ จำนวน 14 ราย ถ้ามาตรการเพิ่มเติมผ่านการเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว จะแจ้งผู้นำเข้าทั้งหมด โดยการกำหนดเป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ที่ซื้อต่อจากผู้นำเข้าทุกราย ทั้งโรงงาน ร้านค้าปลีก ผู้ใช้รายย่อย ต้องปฏิบัติตามแนวทางใหม่ เรื่องการควบคุมดูแลการใช้สารโพแทสเซียมไซยาไนด์

อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้นำเข้า และผู้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกต้องด้วย โดยปัจจุบันสารไซยาไนด์ มี 2 ประเภทที่ กรอ. ควบคุมอยู่ คือ โซเดียมไซยาไนด์ และโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ มีไว้ใช้ในงานอุตสาหกรรม อาทิ การสกัดแร่ การชุบโลหะ ชุบทอง เงิน หรือใช้ในห้องแล็บ ส่วนที่เป็นข่าวตอนนี้ เป็นการนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

นอกจากนี้ กรมฯ ได้หารือเบื้องต้น กับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคแล้วว่า อาจจะขอความร่วมมือ ไม่นำสารไซยาไนด์ ไปขายบนช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์แพลตฟอร์มต่างๆ เนื่องจากเป็นสารอันตราย ไม่ควรหาซื้อง่าย

กรณีของ ‘แอม ไซยาไนด์’ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ถือเป็นบทเรียนชิ้นใหญ่ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหาแนวทางป้องกัน ปิดช่องโหว่ที่ใครก็ได้ ซื้อได้อย่างง่ายดาย ใช้เป็นเครื่องมือ ฆ่าผู้อื่นล้างหนี้อีก