
กรมอุตุนิยมวิทยา เพิ่งประกาศเข้าหน้าร้อนปี 66 ได้ไม่กี่วัน คาดว่าอุณหภูมิปีนี้จะสูงถึง 43 องศาเซลเซียส มากกว่าปีที่แล้ว ค่าไฟฟ้างวดใหม่ (เดือน พ.ค.-ส.ค.) ก็มีทีท่าว่าจะปรับขึ้นแบบเบาๆ ราว 3 สตางค์ เป็นผลมาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (บอร์ด กกพ.) เคาะอัตราค่าไฟฟ้ากรณีต่ำสุด จาก 3 กรณี และนำมารวมกับค่าไฟฐาน ทำให้ประชาชนอาจต้องจ่ายค่าไฟเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 4.75 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบัน (เดือน ม.ค.-เม.ย.) อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย โดยสำนักงาน กกพ.จะมีการชี้แจงและตอบข้อซักถามเรื่องนี้กับสื่อมวลชนในวันที่ 10 มี.ค.นี้
ขณะที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที งวดเดือน พ.ค.-ส.ค มีสัญญาณดีที่จะปรับตัวลดลง ซึ่งให้ บอร์ด กกพ.พิจารณาไม่ให้กระทบต่อต้นทุนภาพรวมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยที่จะต้องไม่สูงขึ้นจากปัจจุบัน อย่างน้อยให้อยู่ในระดับเดิม คือ 4.72 บาทต่อหน่วย
แต่ค่าไฟฟ้างวดนี้จะเป็นอัตราเดียว เพราะในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.ต้องแยกเป็น 2 อัตราคือ ประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการฯลฯ) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย เป็นกรณีพิเศษที่เกิดจากการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบ ขณะเดียวกัน ปัจจุบันพบว่า หลายปัจจัยที่เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าเริ่มลดลง และที่ผ่านมาทุกภาคส่วนก็รับภาระเองมาพอสมควรแล้ว ซึ่งรัฐเองก็เข้าใจและพยายามดูแลมาโดยตลอด ดังนั้น กกพ.น่าจะพิจารณาไม่ให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น
ซึ่งหน้าร้อนแบบนี้ ทำให้แต่ละบ้านต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภททำความเย็นมากขึ้น ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำให้ค่าไฟแพง คือ 1.แอร์ และคอมเพรสเซอร์ 2.เครื่องฟอกอากาศ 3.พัดลมไอน้ำ และ 4.ตู้เย็น ซึ่งจากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พบว่า ในปี 61-63 หน่วยการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อรายของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. สูงกว่าช่วงเดือนอื่นๆ ของปี สอดคล้องกับอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น
ดังนั้น ต่อให้ค่าไฟฟ้าไม่เพิ่มสูงขึ้น แต่เราๆ ก็ใช้ไฟมากขึ้น เงินในกระเป๋าก็ต้องควักจ่ายเพิ่มอยู่แล้ว จึงต้องจับตาว่า สำนักงาน กกพ.จะชี้แจงและตอบข้อซักถาม การคำนวณค่าไฟฟ้าและเสนอทางเลือก เพื่อประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ อย่างไร