
สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย จะใช้วงเงินมากถึง 560,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566 ซึ่งรัฐบาลตั้งงบลงทุนรวมทั้งหมด 492,341 ล้านบาท ต่างกันมากโข ทั้งๆ ที่ผลกระทบกับเศรษฐกิจก็อาจจะไม่ได้มากเหมือนที่คาดการณ์เอาไว้
ด้าน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดแถลงข่าวภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/66 และได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องต้องหารือ และดูรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร ต้องดูวิธีปฏิบัติเป็นอย่างไรด้วย ดูรายละเอียดงบประมาณ ภาระการคลัง ต้องหารือกันหลายหน่วยงาน ยังให้ความเห็นเวลานี้ไม่ได้
ซึ่งจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/66 ออกมาต่ำกว่าคาด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการนี้หรือไม่นั้น มองว่าเศรษฐกิจขยายตัวได้เพียง 1.8% มาจากการส่งออกไทยหดตัว โยงมาถึงภาคการผลิตในอุตสาหกรรมหดตัวด้วย และยังมีเรื่องอุปโภคบริโภคของรัฐบาลที่ปีก่อนมีเรื่องช่วยโควิด แต่ในปีนี้ไม่ได้มีส่วนนี้
เรื่องความกังวลแจกเงินดิจิทัล รวมถึงพักหนี้เอสเอ็มอี หนี้เกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่ประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ พยายามส่งเสริมปรับโครงสร้างหนี้มากกว่าพักหนี้ ทาง สศช.มองว่า ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ต้องการให้เกิดพฤติกรรมจงใจเบี้ยวหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ยังเป็นมาตรการที่ดำเนินการต่อเนื่อง ทำให้คนเป็นหนี้ สามารถยังชำระหนี้ได้ตลอด ช่วยกำลังการใช้จ่ายของลูกหนี้
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น ในแง่นี้ต้องคุยกันหลายหน่วยงาน พิจารณากันอย่างถี่ถ้วน เพราะว่าสิ่งที่ออกมาหรือมาตรการที่ออกมา จะต้องดูผลกระทบและผลเชิงบวก โดยต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่าจะได้ข้อสรุปเป็นอย่างไรบ้าง
"วันนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานต่างๆ หารือ มองว่าเป็นเรื่องปกติที่ทางนายกฯ หลังจากโปรดเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว มีกระบวนการดำเนินการหลายเรื่อง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ทำอะไรบ้าง และนโยบายจากนี้มีอะไรบ้าง ต้องอธิบายในหลักการต่างๆ รูปแบบเป็นอย่างไร ถือเป็นเรื่องปกติที่พูดคุยกับหน่วยงานของรัฐ" นายดนุชา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: