ความเชื่อมั่นผู้บริโภค พีคสุดรอบ 52 เดือน เศรษฐกิจฟื้น เลือกตั้งคึกคัก

กระทรวงพาณิชย์ เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค กลับผงาดสูงสุดในรอบ 52 เดือน เพราะเศรษฐกิจในประเทศฟื้น จากบรรยากาศเลือกตั้ง 2566 คึกคัก

ช่วงใกล้เลือกตั้ง 2566 คนไทยหลายกลุ่มเพิ่มความสนใจทางการเมืองเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ส่งผลต่อ ‘ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค’ ปรับตัวสูงสุดในรอบ 52 เดือน

ซึ่ง ‘ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค’ เป็นดัชนีที่แสดงถึงทัศนคติของผู้บริโภคต่อตลาดแรงงาน ภาวะเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายในอนาคตโดยตัวเลขตัวนี้จะมีความสัมพันธ์กับเรื่องของ การว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ และรายได้ที่แท้จริง

หากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจในอนาคตยังคงมีแนวโน้มที่ดี ผู้บริโภคก็จะใช้จ่าย และลงทุนเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นไปด้วย แต่ในทางกลับกันหากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตก็จะลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ค.66 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย.66 ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.5 ซึ่งอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และสูงสุดในรอบ 52 เดือน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลง และบรรยากาศคึกคักในช่วงการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ หากพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นใน 9 ด้าน คือ เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก มาตรการของรัฐ สังคม/ความมั่นคง การเมือง/การเลือกตั้ง ภัยพิบัติ/โรคระบาด ราคาสินค้าเกษตร ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ พบว่า ปัจจัยทางการเมืองและการเลือกตั้งมีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้จากในเดือน ม.ค.66 ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญปัจจัยทางการเมือง และการเลือกตั้งต่อความเชื่อมั่น เป็นอันดับที่ 7 จาก 9 ปัจจัย อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง ปัจจัยด้านการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นปรับสูงขึ้น โดยอยู่ที่อันดับที่ 5 และอันดับที่ 3 ในเดือน ก.พ.และ มี.ค.66 ตามลำดับ

และเดือน เม.ย.66 มาอยู่อันดับที่ 2 ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของการเลือกตั้งต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และเมื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงจำแนกตามมิติต่างๆ ทั้งภูมิภาค ช่วงอายุ อาชีพ รายได้ และการศึกษา เทียบกับช่วงต้นปีในเดือน ม.ค.66 มีรายละเอียดดังนี้

โดยประชาชนภาคเหนือ มองว่า การเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด คิดเป็น 176%รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง ปรับเพิ่มขึ้น 163% ภาคใต้ ปรับเพิ่มขึ้น 128% กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรับเพิ่มขึ้น 105% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับเพิ่มขึ้น 99% ตามลำดับ

หากเทียบปัจจัยการเมืองในแต่ภาค พบว่า เดือน ม.ค.66 ประชาชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมองว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อความเชื่อมั่นมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่เมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้ง ทุกภาคปรับเพิ่มขึ้นและมองว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

สำหรับกลุ่มช่วงอายุ 40-49 ปี มองว่าการเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ปรับเพิ่มขึ้น 185% เป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดหากเทียบกับประชาชนในกลุ่มอายุอื่นๆ รองลงมา ได้แก่ กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 166% กลุ่มอายุ 50-59 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 142% กลุ่มอายุ 30-39 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 121% กลุ่มอายุ 20-29 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 97% และกลุ่มอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ปรับเพิ่มขึ้น 53% ตามลำดับ

หากพิจารณาตามกลุ่มอาชีพ พบว่า พนักงานบริษัทมองว่า การเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้น 171% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดหากเทียบกับอาชีพอื่นๆ รองลงมา ได้แก่ เกษตรกร ปรับเพิ่มขึ้น 145% ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงาของรัฐ ปรับเพิ่มขึ้น 124% ผู้ประกอบการ ปรับเพิ่มขึ้น 114% อาชีพรับจ้าง/บริการอิสระ ปรับเพิ่มขึ้น 105% และกลุ่มคนไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ปรับเพิ่มเล็กน้อย 6% ตามลำดับ

หากเทียบปัจจัยการเมืองในแต่ละอาชีพ พบว่า เดือนม.ค.66 กลุ่มนักศึกษาและไม่ได้ทำงาน/บำนาญ มองว่าปัจจัยทางการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง ทุกกลุ่มอาชีพปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามรายได้ พบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 40,001 ถึง 50,000 บาท มองว่าการเมืองและการเลือกตั้ง เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 273% รองลงมา ได้แก่ รายได้ตั้งแต่ 50,001 ถึง 100,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 271% รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 186%

รายได้ตั้งแต่ 100,001 บาท ขึ้นไป เพิ่มขึ้น 168% รายได้ตั้งแต่ 10,001 ถึง 20,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 160% รายได้ตั้งแต่ 20,001 ถึง 30,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 156% รายได้ตั้งแต่ 30,001 ถึง 40,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 110% และรายได้ตั้งแต่ 5,001 ถึง 10,000 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 65% ตามลำดับ

สำหรับประชาชนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี มองว่า การเมืองและการเลือกตั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผล ต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 172% รองลงมา ได้แก่ อนุปริญญา ปรับเพิ่มขึ้น 158% ปริญญาตรี ปรับเพิ่มขึ้น 121% มัธยม/ปวช. ปรับเพิ่มขึ้น 83% และระดับต่ำกว่ามัธยม ปรับเพิ่มขึ้น 71% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การให้ความสำคัญด้านการเมือง และการเลือกตั้งของประชาชนกลุ่มต่างๆ จากเดิมมีลักษณะกระจุกตัวเฉพาะกลุ่มในช่วงก่อนการเลือกตั้ง (ม.ค.66) ไปสู่ทุกกลุ่มให้ความสำคัญการเมือง และการเลือกตั้งมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงใกล้การเลือกตั้ง และยังส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นด้วย

สะท้อนถึงการคาดหวังในนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้มีการหาเสียงไว้ ซึ่งคาดว่าจะตอบโจทย์ของคนในแต่ละกลุ่มอย่างครบถ้วน ดังนั้น หากจะรักษาโมเมนตัมให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับช่วงเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องหลังการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว นโยบายต่างๆ ควรมีการดำเนินให้เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว

ซึ่ง สนค. จะติดตามและสะท้อนความคาดหวังของประชาชนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อไป เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการส่งเสริมการดำเนินนโยบายภาครัฐ ที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการประชาชนอย่างตรงจุดให้มากที่สุด

คลิปอีจันแนะนำ
แม่ ไอซ์ ปรีชญา เปิดใจ สั่งไซยาไนด์ มาไล่สัตว์พิษจริงๆ