
ใครที่ใช้บัตรเครดิตแล้วผ่อนขั้นต่ำอยู่ เตรียมตัวเลยนะคะ ท่านจะมีหนี้เพิ่มขึ้น เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จะเพิ่มยอดการจ่ายหนี้บัตรเครดิตในปี 67 เป็น 8% หลังจากช่วงโควิด-19 ปรับลดลงเหลือ 5% และปี 68 ก็จะปรับเพิ่มไปเป็น 10% หวังสกัดหนี้เสีย
ซึ่ง นายอธิศ รุจิรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน และประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต ก็ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า ถ้าแบงก์ชาติปรับขึ้นการจ่ายขั้นต่ำ จากเฉลี่ยแล้วคนไทยมีบัตรเครดิต 3 ใบต่อคน หากเพิ่มยอดการจ่ายขั้นต่ำ ก็เท่ากับว่าจะเพิ่มภาระการจ่ายของทุกๆ ใบ กลายเป็นปัญหาการผ่อนจ่ายหนี้ไม่ไหวอีก ด้วยภาวะเศรษฐกิจการค้าการขาย ค่าแรง และค่าครองชีพเอง ก็ยังไม่ค่อยดีขึ้นเท่าที่ควร
ดังนั้น ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต เตรียมหารือกับแบงก์ชาติ ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 หรือไตรมาส 4 เพื่อขอเลื่อนการปรับยอดจ่ายขั้นต่ำออกไปก่อน ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้มุมมองกับแบงก์ชาติ เกี่ยวกับความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ค่อนข้างมาก เพราะมองว่า จะกระทบกับการใช้จ่ายหนี้ของลูกหนี้ แต่แบงก์ชาติให้เหตุผลถึงความจำเป็นต้องปรับ และยืนยันยังคงต้องปรับ 8% ในปี 67
ขณะเดียวกัน จะมีการหารือขอให้ปรับเพิ่มเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตกลับไปที่ 18% หลังจากที่ปรับลดลงมาเหลือ 16% ต่อปีในปัจจุบัน ซึ่งถือว่า ต่ำสุดในโลก ถ้าหากต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้กำไรธุรกิจน้อยและอาจอยู่ไม่ได้
ทั้งนี้ อัตราการเติบโตและส่วนแบ่งการตลาดของบัตรเครดิต จำนวนบัญชีในอุตสาหกรรมบัตรเครดิตปัจจุบันเทียบกับสิ้นปี 65 เติบโต 3.1% หนี้คงค้าง เติบโต 4% ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตเติบโต 15% เป็นในประเทศ 10% ต่างประเทศ 5.6% และกดเงินสด 27% เทียบกับในปี 62 ก่อนช่วงโควิด-19 จำนวนบัญชีเติบโต 13.6% หนี้คงค้าง เติบโต 17% ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตเติบโต 17% เป็นในประเทศ 21% ต่างประเทศ 31% และกดเงินสดติดลบ 18%
ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล ก่อนหน้านี้ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ที่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Surapol Opasatien ให้ข้อมูลพร้อมแสดงความเห็นเกี่ยกับหนี้เสียไทย ว่า คนไทยเป็นหนี้บัตรเครดิต 57%, สินเชื่อส่วนบุคคล 54%, สินเชื่อบ้านอยู่ที่ 22% และสินเชื่อรถยนต์ 12%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: