
'กรมอุตุนิยมวิทยา' เผยว่า ฤดูร้อนปีนี้ช่วงวันที่ 13-15 เม.ย.66 เป็นช่วงที่มีอุณหภูมิสูงสุดของปีนี้วัดได้ 44.6 องศาเซลเซียส (14 เม.ย.66) ที่ อ.เมือง จ.ตาก เทียบเท่าสถิติปี 2559 ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน (28 เม.ย.59) และช่วงวันที่ 16-22 เม.ย.66 มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทำให้อุณหภูมิไม่สูงกว่าช่วงที่ผ่านมา แม้แนวตั้งฉากของดวงอาทิตย์จะอยู่บริเวณประเทศไทยตอนบนก็ตาม
ด้าน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เผยว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค.66 เวลา 21.41 น. ได้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือค่าพีค (Peak) ใหม่ อยู่ที่ 34,826.50 เมกะวัตต์ สูงกว่า Peak เดิม เมื่อวันที่ 28 เม.ย.65 เวลา 14.30 น. ที่ 33,177.30 เมกะวัตต์
เนื่องจากสภาพอากาศร้อน และเป็นช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 4-7 พ.ค.66 ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศ (แอร์) พัดลม ตู้เย็น แม้พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าจะเหมือนเดิม การที่อุณหภูมิสูงขึ้นอุปกรณ์ทำความเย็น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (แอร์) และตู้เย็น ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิลงมาให้ได้ความเย็นที่ตั้งไว้และยังมีการระบายความร้อนได้ยากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ขอให้ตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้า ในการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในบิลค่าไฟรอบเดือนพฤษภาคม 2566 ของท่านว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้นทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าเดิมได้และส่งผลค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเพิ่มขึ้นด้วย
ประกอบกับอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย จะมีการคิดคิดค่าไฟฟ้าเป็นแบบอัตราก้าวหน้า คือ ยิ่งใช้มาก ยิ่งจ่ายมาก เพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของไทยจะผลิตจากต้นทุนที่มีราคาถูกก่อน และเมื่อการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นจะมีการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงขึ้น ถึงแม้ค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 จะไม่ได้ปรับขึ้น ซึ่งเรียกเก็บในอัตราค่าไฟฟ้า 4.70 บาทต่อหน่วยก็ตาม
นอกจากนี้ สำนักงาน กกพ. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนผู้ใช้ไฟร่วมกันประหยัดการใช้พลังงาน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า 5 ป. ได้แก่ ปิดไฟที่ไม่ใช้ หรือไม่จำเป็น ปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กไฟเมื่อเลิกใช้ เปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบ LED และปลูกต้นไม้ เพื่อเป็นร่มเงาและช่วยลดอุณหภูมิให้กับตัวบ้าน ร่วมกันประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดภาระค่าไฟฟ้า
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มเปราะบาง สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดแบบขั้นบันไดสำหรับงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66 (4 เดือน) โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.66
1.ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย
2.ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าเอฟที เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม 'กรมอุตุนิยมวิทยา' เตรียมประกาศเข้าหน้าฝนอย่างเป็นทางการของไทย ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค.66 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค.66 ซึ่งช้ากว่าปกติประมาณ 1 สัปดาห์ ช่วงต้นฤดู (ปลาย พ.ค.-มิ.ย.) โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะมีน้อยกว่าปี 2565 และจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5%
ซึ่งก็หวังว่า ฝนที่กำลังมาจะช่วยทุเลาเบาบางอุณหภูมิที่ร้อนระอุนี้ ลงได้บ้าง