
ตามที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 31 พ.ค.66 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ การปรับขึ้นดังกล่าวเป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ และเป็นรอบที่ 6 ติดต่อกันที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ มีการปรับขึ้น ครั้งละ 0.25% นับตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.65
โดยธนาคารแรก ที่นำร่องปรับขึ้นดอกเบี้ย คือ 'ธนาคารกรุงเทพ' ปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นเฉลี่ย 0.05-0.25% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับขึ้นเฉลี่ย 0.20% ทำให้ดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (เอ็มแอลอาร์) เพิ่มเป็น 6.85% ต่อปี
ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (เอ็มโออาร์) เพิ่มเป็น 7.30% และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ เอ็มอาร์อาร์ เพิ่มเป็น 7.05% มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.66
ถัดมา 'ธนาคารกสิกรไทย' ก็ประกาศปรับดอกเบี้ยเงินฝาก ขึ้นเฉลี่ย 0.05-0.25% และปรับดอกเบี้ยเงินกู้ ขึ้นเฉลี่ย 0.20% ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ อยู่ที่ 7.02% ดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มโออาร์ อยู่ที่ 7.34% และดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มอาร์อาร์ อยู่ที่ 7.05% ต่อปี
ส่วน 'ธนาคารกรุงไทย' ก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.25% ต่อปี และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 0.20% ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 6 มิ.ย.66 เป็นต้นไป
เช่นเดียวกับ 'ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร' (ธ.ก.ส.) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สูงสุด 0.50% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.01-0.25% ต่อปี และ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% เพิ่มเป็น 6.50% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.66 เช่นกัน
ด้าน 'ธนาคารทหารไทยธนชาต' ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.66 ดังนี้
สำหรับลูกค้าบุคคล 1.บัญชีเงินฝากประจำทั่วไป ทีทีบี ประเภท 36 เดือน เพื่อการออมระยะยาว ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.50% เป็น 2.10% ต่อปี 2.บัญชีเงินฝากประจำรูปแบบพิเศษ ทีทีบี ดอกเบี้ยด่วน ประเภท 3 เดือน เพื่อการออมระยะสั้น ได้รับผลตอบแทนเร็วและสูง ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.10% เป็น 1.20% ต่อปี โดยลูกค้าสามารถรับดอกเบี้ยไปใช้หลังการฝากเงินเพียง 7 วัน
สำหรับลูกค้านิติบุคคล 1.บัญชีเงินฝากประจำรูปแบบพิเศษ ทีทีบี อัพแอนด์อัพ ประเภท 24 เดือน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 1.80% ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยช่วงเดือนที่ 1 ถึงเดือนที่ 6 เพิ่มขึ้น 0.20% เป็น 1.00% ต่อปี
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทุกประเภท โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ 0.20% ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มโออาร์ อยู่ที่ 0.20% และดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มอาร์อาร์ อยู่ที่ 0.20% โดยอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.66
ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก 'กอบศักดิ์ ภูตระกูล' ระบุว่า จากภาษาที่ใช้ และมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 2.0% ในวันนี้ หมายความว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ กนง. ยังจะขึ้นดอกเบี้ย ไปอีกระยะ
จึงต้องติดตามว่า ช่วงครึ่งปีที่เหลืออยู่ แบงก์ชาติจะมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลให้ ธนาคารพาณิชย์ใช้อ้างอิงเพื่อทยอยปรับขึ้นตามไปด้วย