ก.คลัง สยบลือถังแตก ยันงบกลางเหลือ 40,400 ล้านบาท ไม่กระทบหน่วยงานรัฐ

‘กระทรวงการคลัง’ โต้ข่าวลือถังแตก ยืนยันงบกลางเหลือ 40,400 ล้านบาท เพียงพอและไม่กระทบต่อหน่วยงานรัฐ

‘กระทรวงการคลัง’ โดย นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงต่อกรณีสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง มีการพาดหัวข่าวว่า งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ล่าสุดได้ลดลงเหลือ 18,000 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2566 และทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม

โดยกล่าวว่า รัฐบาลมีความสามารถในการใช้จ่ายค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะการใช้จ่ายตามมาตรา 28 ว่าด้วยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง) และเพดานการก่อหนี้สาธารณะ พบว่า ในเวลานี้ใกล้เต็มเพดานที่ 32% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย ทำให้เป็นข้อจำกัดต่อการออกมาตรการใดๆ ก็ตามของรัฐบาลที่จะต้องยึดถือปฏิบัติตามการใช้จ่ายเงินในมาตรา 28

โดยข้อมูลเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2565 ภาระผูกพันจากการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลตามมาตรา 28 อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.5% ของงบประมาณรายจ่าย นอกจากนี้ สิ้นสุดเดือน มิ.ย.66 พบว่า วงเงินคงเหลือตามมาตรา 28 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมใดๆ ของรัฐบาลในรอบงบประมาณปี 2566

ทั้งนี้ การพาดหัวข่าวดังกล่าวเกี่ยวกับงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีความไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของข่าวที่เป็นการพูดถึงวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งเป็นแหล่งเงินที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างจาก งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

กระทรวงการคลัง จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นรายจ่ายในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยา หรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ได้ตั้งวงเงินงบประมาณไว้ จำนวน 92,400 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 16 ก.ค.66 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินดังกล่าวไปแล้ว ประมาณ 52,000 ล้านบาท อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 มาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ในช่วงเดือน ต.ค.65 ถึง เม.ย.66 เป็นต้น

2.ในส่วนของวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ นั้น เป็นวงเงินที่ใช้สำหรับกรณีที่รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยใช้เงินทุนของตัวเองไปก่อน และรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้กับหน่วยงานของรัฐในภายหลัง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในช่วงที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ

รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดกรอบอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดที่รัฐต้องรับชดเชยจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ไว้ที่ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐในปีงบประมาณ 2566 จะดำเนินการภายใต้วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท โดย ณ วันที่ 16 ก.ค.66 ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว ทั้งสิ้น 2.564 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่เหลือในปีงบประมาณ 2566 (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.66) รัฐบาลจะเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ก.พาณิชย์ เผย ครึ่งแรกปี 66 ต่างชาติหอบ 48,927 ล้านบาท ลงทุนไทยอัตราดอกเบี้ยของไทย ต่ำกว่าปกติ สาเหตุคนไทยขยันสร้างหนี้’กรมสรรพากร’ เล็งใช้ ChatGPT จัดการข้อมูลภาษี ใครคิดเลี่ยงจ่าย หนาวแน่