อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ยังไม่เทใจให้พรรคไหน ขอให้สามคำ เป็นไม้บรรทัด

อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ‘ขอสามคำ’ เป็นไม้บรรทัด ประเมินนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง ก่อนบอก ชอบ หรือไม่ชอบ

ประเด็นหาเสียงแจกเงินของหลายพรรคการเมือง ยังคงเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่องในหลายวงการ ขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีหนังสือลงวันที่ 10 เม.ย.66 แจ้งทุกพรรคการเมืองที่มีนโยบายหาเสียงดังกล่าว ชี้แจงรายละเอียดให้ครบถ้วน และส่งกลับมายังสำนักงาน กกต. ภายในวันที่ 18 เม.ย.66

กกต.บี้พรรคการเมือง หาเสียงแจกเงิน แจงรายละเอียดด่วน

รวมถึง ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก Chamnong Watanagase ของนายจำนง วัฒนเกส สามีของนางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้เผยแพร่ข้อความ เกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ในการเติมเงินลงในกระเป๋าเงินดิจิทัล ให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท เพื่อซื้อสินค้าในรัศมี 4 กม.จากที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ภายใน 6 เดือน ว่า


เป็นนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบ นอกจากการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงิน คอยแต่จะแบมือรับ แทนที่จะติดอาวุธให้ประชาชนมีทักษะ มีความสามารถในการยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน มากกว่าเงินช่วยเหลือจากนักการเมือง

นโยบายแจกเงิน โดนอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ เมนต์แรง สร้างหนี้ใช่เหตุ

ซึ่งล่าสุด อีกหนึ่งท่านที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจในการหาเสียง นั่นคือ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ 2 สมัย โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Veerathai Santiprabhob ระบุว่า 


ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าชอบนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองไหนบ้าง โดยขอรอประเมินว่า “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” จาก 3 ตัวประเมินผล ประกอบด้วย 1.ผลิตภาพ (productivity) 2.การสร้างภูมิคุ้มกัน (immunity) และ 3.การกระจายผลประโยชน์ทั่วถึง (inclusivity)


“ผมจะใช้สามคำข้างต้น เป็นไม้บรรทัดพิจารณาว่า “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” นโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองใด ที่สำคัญจะรอดูว่า candidate นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองต่างๆ ให้ความสำคัญกับ 3 คำนี้แค่ไหน เข้าใจ และมี commitment ว่าจะทำเรื่องใดให้เกิดผลได้จริงบ้าง และที่ผ่านมาในอดีตได้ทำเรื่องเหล่านี้ให้เกิดผลจับต้องได้มากน้อยเพียงใด เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องเข้าไปจัดการด้าน supply side ต่างจากการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ แบบที่นักการเมืองคุ้นชิน


การจะพลิกโฉมหรือ transform ระบบเศรษฐกิจไทยเพื่อเพิ่ม productivity, immunity, และ inclusivity ได้นั้นต้องใช้ทั้งความมุ่งมั่น ความตั้งใจจริง และพลังของท่านนายกรัฐมนตรี”


คำแรก “productivity” หรือ ผลิตภาพ ถ้าแปลง่ายๆ คือคนไทยต้องเก่งขึ้น ธุรกิจไทยต้องเก่งขึ้น และต้นทุนการใช้ชีวิต การทำธุรกิจของคนไทยต้องลดลง


สังคมไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในขณะที่จำนวนคนไทยวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ มา 2-3 ปีแล้ว และหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาก ในอนาคตคนไทยวัยทำงานแต่ละคนจะต้องหาเงินดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งดูแลทางตรง (ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและตัวเองในวัยชรา) และทางอ้อม (ผ่านการเสียภาษีให้รัฐบาลเพื่อเอาไปดูแลคนชรา) ตลาดในประเทศก็มีแนวโน้มเล็กลงตามจำนวนประชากรและโครงสร้างประชากร ในอนาคตงบประมาณของภาครัฐที่จะไปลงทุนเรื่องใหม่ๆ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกก็มีแนวโน้มน้อยลง เพราะงบรายจ่ายสวัสดิการเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการแข่งขันกับประเทศอื่นที่เข้มข้นมากขึ้น หลายประเทศคู่แข่งของเรามีโครงสร้างประชากรที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว และกำลังเพิ่มผลิตภาพหลายด้านอย่างก้าวกระโดด


นโยบายด้าน productivity ต้องทำหลากหลายเรื่อง ที่สำคัญต้องเร่งพลิกโฉม (transform) ภาคเศรษฐกิจที่มี productivity ต่ำแต่มี impact สูงกับคนส่วนใหญ่ของประเทศก่อน โดยให้ความสำคัญกับอย่างน้อย 3 ภาค คือ ภาคเกษตร ภาคการศึกษา และภาครัฐ ที่ต้องพลิกโฉมอย่างจริงจัง ต้องทำนโยบายและมาตรการด้านอุปทาน (supply side) และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็น Agri-tech, Edu-tech, หรือ Gov-tech ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลได้จริงในระยะยาว


ภาคเกษตร ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลผลิตต่อไร่ของทุกพืชหลักของเราแทบไม่ดีขึ้นเลย และอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนี้ แรงงานในภาคเกษตรเป็นแรงงานสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ วิธีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมใช้น้ำมาก ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณสูง และสร้าง PM2.5 ทำให้คนไทยตายผ่อนส่ง และสร้างภาระรายจ่ายด้านสุขภาพสูงมาก ภาคเกษตรจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศรุนแรงในอนาคต ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่เพราะครัวเรือนกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไทยพึ่งพิงรายได้จากภาคเกษตร การเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรจะต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ติดอยู่กับนโยบายให้เงินอุดหนุน ประกันรายได้ หรือเน้นสร้างแรงจูงใจที่มีผลบิดเบือนระยะสั้นเหมือนที่ผ่านมา


ภาคการศึกษา ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลิตภาพการศึกษาของเราอยู่ในระดับต่ำ และยังผลิตคนที่มีทักษะและความรู้ไม่ตรงกับความต้องการของโลกปัจจุบันและอนาคต เรามีโรงเรียนรัฐบาลขนาดเล็กที่ขาดคุณภาพจำนวนมาก และกำลังเผชิญปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ สถาบันการศึกษาเอกชนหลายแห่งต้องทยอยปิดตัวลง สถาบันอุดมศึกษาต้องเร่งปรับตัวจากการมุ่งสอนนิสิตนักศึกษาไปสู่การวิจัยที่สร้างนวัตกรรม และเพิ่มบทบาทการ upskill และ reskill แรงงานจำนวนมากที่ต้องยกระดับทักษะของตัวเอง การศึกษาเคยเป็นบันไดทางสังคม (social ladder) ที่สำคัญของไทย แต่บทบาทนี้จะยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพถ่างขึ้นระหว่างคนที่มีฐานะดี กับคนทั่วไป


ภาครัฐ ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณในอนาคต ภาครัฐจะต้องมีขนาดเล็กลง ซึ่งหมายความว่าต้องทำงานเก่งขึ้น นอกจากนี้ภาครัฐเป็นต้นทุนแฝงของการใช้ชีวิต และการทำธุรกิจของเราทุกคน เพราะเราต้องจ่ายภาษีและจ่ายค่าบริการสาธารณูปโภคต่างๆ ให้กับรัฐวิสาหกิจ (ที่หลายแห่งมีปัญหาด้านคุณภาพและรั่วไหลต่อเนื่อง) การยกระดับผลิตภาพของภาครัฐจะต้องปฏิรูปกระบวนการทำงานของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง ต้องรักษาคนเก่งจำนวนมากให้อยู่ในภาครัฐให้ได้ ให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและให้ทำงานที่มีคุณค่าสูง ต้องลดการรวมศูนย์จากส่วนกลาง กระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่นเร็วขึ้นและมากขึ้น


นอกจากนี้ ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย ยกเลิกกฎเกณฑ์กติกาที่ล้าสมัย ซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตและทำธุรกิจของคนไทย และที่สำคัญที่สุดต้องเน้นการสร้างความโปร่งใส และเอาจริงกับการปราบปรามคอรัปชั่น เพราะการคอรัปชั่นทำลายผลิตภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทย ที่ใดก็ตามที่มีการคอรัปชั่นเป็นวัฒนธรรม การแข่งขันจะไม่ได้อยู่บนความเก่งหรือความสามารถ แต่จะขึ้นอยู่กับว่ารู้จักใคร หรือรู้จักวิธีที่จะจ่ายกับใคร

คำที่สอง “immunity” หรือการสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นเรื่องที่สำคัญมากในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน และความไม่แน่นอน การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเครื่องมือหนึ่งของการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อโดนกระแทกจากปัจจัยอะไรก็ตาม จะไม่เกิดผลกระทบรุนแรง ถ้าล้มลงไปก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้เร็ว ภูมิคุ้มกันของระบบเศรษฐกิจและสังคมต้องเกิดขึ้นในหลายระดับ เพราะแรงกระแทกที่เราจะเผชิญในอนาคตก็จะเกิดขึ้นในหลายระดับเช่นเดียวกัน


ในระดับเศรษฐกิจมหภาค ต้องแน่ใจว่านโยบายเศรษฐกิจไม่ทำลายความมั่นคงทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว และไม่สร้างความบิดเบือนในระบบแรงจูงใจให้เกิดขึ้น ส่งผลให้คนทำเรื่องที่ไม่ควรทำหรือมีพฤติกรรมผิดๆ


“เราต้องเลิกทำนโยบายประเภทสัญญาว่าจะให้แบบเหวี่ยงแห โดยเฉพาะพวกนโยบายที่ใช้งบประมาณแบบปลายเปิด จนควบคุมได้ยาก หรือนโยบายที่ทำให้ประชาชนเสพติดเงินอุดหนุนรูปแบบต่างๆ 


ในทางตรงกันข้าม เราต้องเร่งทำนโยบายเพิ่มศักยภาพการจัดหารายได้ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบภาษี การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการหารายได้จากทรัพย์สินของรัฐบาล โดยเฉพาะที่ดินของรัฐ และสัมปทานต่างๆ เพราะรายจ่ายสวัสดิการของรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งขึ้นกว่าเดิม ตามโครงสร้างสังคมสูงอายุ” นายวิรไท ระบุ


ในระดับธุรกิจและครัวเรือน ต้องมีกลไกทางเศรษฐกิจ (เช่น ภาษีสรรพสามิต) ที่มุ่งให้ธุรกิจไทยและวิถีชีวิตคนไทยไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเตรียมรับมือ (adaptation) กับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่จะรุนแรงกว่าเดิมมาก เรื่อง adaptation นี้เราพูดถึงกันน้อยมาก ทั้งๆ ที่สำคัญมาก เพราะวิกฤติสภาวะภูมิอากาศจะกระทบต่อทุกภาคธุรกิจ และวิถีชีวิตของเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ในระดับบุคคล จะต้องมุ่งให้คนไทยลดหนี้ได้อย่างยั่งยืน ด้วยการหาทางแก้ไขหนี้ที่มีอยู่เดิม และป้องกันไม่ให้ก่อหนี้ใหม่แบบเกินพอดี จะต้องส่งเสริมการออมทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ และส่งเสริมให้คนไทยมีทักษะและความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการเงิน นอกจากนี้ คนไทยต้องมีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะว่าความรู้ที่มีอยู่จะล้าสมัยได้เร็วมากในโลกข้างหน้า และที่สำคัญที่สุด จะต้องส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง ดูแลสุขภาพตัวเองได้ในระยะยาว ลดการใช้ยาเสพติดทุกประเภท และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่บั่นทอนอนาคตของคนไทยจำนวนมาก

คำที่สาม “inclusivity” หรือการกระจายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมาก เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ด้านรายได้ หรือด้านโอกาส ปัญหาคนจนข้ามรุ่นจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โอกาสที่จะไต่บันไดทางสังคมยากขึ้นเรื่อยๆ (โดยเฉพาะถ้าไม่ปฏิรูประบบการศึกษา)

นโยบายที่จะจัดการเรื่อง inclusivity ทำได้หลายรูปแบบ แต่จะต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายและผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นให้ชัดเจน ไม่เหวี่ยงแห และต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผล รวมทั้งต้องคิดนโยบายใหม่ๆ ที่มุ่งกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่บางเมืองเท่านั้น เรามีเมืองรองจำนวนมากที่เศรษฐกิจในพื้นที่ฝ่อลงเรื่อยๆ และต้องการนโยบายสนับสนุนเมืองรองให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ

ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การจัดการเรื่อง inclusivity จะต้องตั้งอยู่บนหลักของการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อไม่ให้ปลายักษ์กินปลาใหญ่ และปลาใหญ่กินปลาเล็กได้โดยง่าย ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเข้มแข็งขึ้นมาก และมีความสามารถในการทำกำไรสูง ในขณะที่ SMEs ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของประเทศมีแนวโน้มฝ่อลง ถ้าหากความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการทำกำไรของนายจ้างที่เป็น SMEs ลดลงเรื่อยๆ แล้วก็ยากที่จะเพิ่มรายได้ของแรงงานที่เป็นลูกจ้างได้


การสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่ผ่านมากฎเกณฑ์กติกาหลายเรื่องสร้างต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจมาก ซึ่งเมื่อหารออกมาเป็นต้นทุนต่อผลผลิตแล้วจะพบว่าต้นทุนของ SMEs สูงกว่าต้นทุนของธุรกิจขนาดใหญ่มาก กฎเกณฑ์กติกาหลายเรื่องยังได้กำหนดมาตรฐานไว้สูง ส่งผลให้เกิดการกีดกันการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะ SMEs 


นอกจากนี้ องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแล (regulators) หลายแห่งขาดความเข้มแข็ง หรือถูกแทรกแซง ไม่กล้าที่จะทำเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเกรงว่าจะไปกระทบกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่อาจจะเชื่อมโยงกับการเมือง 


นโยบายที่สร้างความเข้มแข็งและความโปร่งใสให้กับองค์กรที่เป็นผู้กำกับดูแลจึงสำคัญมากที่จะแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และสร้าง inclusivity ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เราอาจจะคิดว่าการต่อสู้กันด้านผลประโยชน์ในบางธุรกิจเป็นเรื่องของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ชนกัน (ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม หรือพลังงาน) แต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มทุนเหล่านี้แท้จริงแล้วคือต้นทุนของเราทุกคน

เหลืออีกไม่ถึงหนึ่งเดือนก็จะถึงวันเลือกตั้ง หวังว่าเราจะเห็นข้อเสนอนโยบายเศรษฐกิจจากพรรคการเมืองต่างๆ อย่างรอบด้านชัดเจน และเป็นระบบมากขึ้น มากกว่าที่จะเห็นเพียงมาตรการพวกสัญญาว่าจะให้ 


ผมจะใช้สามคำข้างต้น เป็นไม้บรรทัดพิจารณาว่าชอบหรือไม่ชอบนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองใด ที่สำคัญจะรอดูว่า candidate นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองต่างๆ ให้ความสำคัญกับสามคำนี้แค่ไหน เข้าใจ และมี commitment ว่าจะทำเรื่องใดให้เกิดผลได้จริงบ้าง และที่ผ่านมาในอดีตได้ทำเรื่องเหล่านี้ให้เกิดผลจับต้องได้มากน้อยเพียงใด เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องเข้าไปจัดการด้าน supply side ต่างจากการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ แบบที่นักการเมืองคุ้นชิน 


การจะพลิกโฉมหรือ transform ระบบเศรษฐกิจไทยเพื่อเพิ่ม productivity, immunity, และ inclusivity ได้นั้นต้องใช้ทั้งความมุ่งมั่น ความตั้งใจจริง และพลังของท่านนายกรัฐมนตรี

คลิปแนะนำอีจัน
อีจันพลังมู ตอน เปิดวังบาดาลพญานาคราช คุ้งบางกระเจ้า