ครบ 18 ปี ‘สพพ.’ เตรียมชงรัฐบาลใหม่ ปล่อยกู้ สปป.ลาว 1.8 พันล้าน

‘สพพ.’ ครบ 18 ปี เตรียมชงรัฐบาลใหม่ ปล่อยกู้ สปป.ลาว 1.8 พันล้าน พัฒนาเส้นทาง R12 ช่วงเมืองท่าแขก-จุดผ่านแดนนาเพ้า

ด้วยเศรษฐกิจของไทย เติบโตในระดับหนึ่งที่มีศักยภาพเพียงพอในการปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านรัฐบาลได้โดยตรง เพื่อการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศให้ใกล้เคียง ทัดเทียมกัน จึงมีการจัดตั้ง สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ทั้งด้านการเงินและวิชาการ

รวมถึงการให้ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายตลอดจนมาตรการต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน ตาม พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) จัดตั้ง สพพ. โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2548

ขณะที่ นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อํานวยการสํานักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) เผยว่า ปัจจุบันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่ม 7 ประเทศเพื่อนบ้าน มีจํานวน 90 โครงการ มูลค่า 22,284.78 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการความร่วมมือทางการเงิน จํานวน 29 โครงการ วงเงิน 21,910.69 ล้านบาท 2.โครงการความร่วมมือทางวิชาการ จํานวน 21 โครงการ วงเงิน 346 ล้านบาท และ 3.โครงการถ่ายทอดความรู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน จํานวน 40 โครงการ วงเงิน 28.09 ล้านบาท

นอกจากนี้ สพพ.ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างดําเนินการ และโครงการใหม่ที่จะส่งเสริมภาคเอกชนไทยให้มีบทบาทสําคัญในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนโครงการพัฒนาชุมชนเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษบนเส้นทางคมนาคมที่สําคัญ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor) อย่างเต็มรูปแบบ สรุปได้ดังนี้


ทั้งนี้ ปัจจุบัน สพพ. มีการปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน แบ่งเป็น สปป.สาว 69.70% หรือ 15,511.86 ล้านบาท กัมพูชา 18.56% หรือ 4,130.91 ล้านบาท และเมียนมา 10.90% หรือ 2,425.91 ล้านบาท


ท่ามกลางการดําเนินโครงการของ สพพ. ที่ท้าทายอย่างมากในปี 2565-2566 ทั้งจากผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงขั้วอํานาจทางด้านเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศคู่พัฒนา เช่น สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศเพื่อนบ้าน 


แต่ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงสถานการณ์ใดก็ตาม สพพ.ยังมุ่งผลักดันโครงการที่สําคัญ ติดตามและประเมินผลโครงการ เพื่อระบุปัญหาและอุปสรรคของการดําเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนให้แก่องค์กร ต่อยอดนโยบายความยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในด้านต่างๆ ทุกมิติ

อีกทั้ง สพพ. ยังได้รับคะแนนประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ปี 2565 อยู่ในระดับ A+ ที่ 92.83 คะแนน ขณะที่ คะแนนการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA 4.0) อยู่ที่ 447.86 คะแนน และการประเมินระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐ อยู่ที่ 74.38% ค่าเฉลี่ยหน่วยงาน ระดับกรมอยู่ที่ 54.64% และยังได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2564 ในระดับชมเชย ประเภทองค์กรภาครัฐ อีกด้วย 


ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ  สพพ. ใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยมาช่วยในการปฏิบัติงาน เช่น  โครงการ Front & Back Office การบูรณาการฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ, Website ตามมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ 2.0, มาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 ปรับปรุงระบบสารสนเทศผ่านการรับรองมาตรฐานระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ เป็นต้น

รวมถึง การพัฒนากระบวนการทำงานภายในองค์กร ประกอบด้วย 1. Paper Less Office โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นมา ทำให้สามารถลดการใช้กระดาษได้ถึง 46.36% และ 2.WORK FROM HOME ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด และสนับสนุนการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน