สปส. เปิดรับความเห็น ร่างกฎกระทรวง ปรับเพดานเงินเดือนและเงินสมทบเพิ่ม

สำนักงานประกันสังคม เปิดฟังความคิดเห็น ร่างกฎกระทรวงใหม่ ปรับเพดานเงินเดือน และเงินสมทบ ผู้ประกันตน ม.33

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.66 สำนักงานประกันสังคม เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม

เพื่อปรับปรุงเพดานค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเพิ่มขึ้นและมีความเหมาะสม ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย law.go.th โดยจะปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 28 ก.พ. 66

โดยสำนักงานประกันสังคม จะนำความคิดเห็นไปพิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ก่อนนำเสนอให้ ครม. พิจารณา

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยจะมีการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นสูงสุด 23,000 บาท ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไปดังนี้

ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2567 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

ข้อ 3 ค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคํานวณเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แต่ละคน ให้กําาหนดขั้นต่ำและขั้นสูง ดังต่อไปนี้

(1) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 จํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท

(2) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 จํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท

(3) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จํานวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท

เมื่อเปรียบเทียบกับการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมปัจจุบัน ตามกฏกระทรวงฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พบว่า จํานวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคํานวณเงินสมทบที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ขั้นสูงที่แต่ละคนต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้น จากเดิมที่กำหนดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท เพิ่มดังนี้

ปี 2567-2569 ไม่เกิน 17,500 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท

ปี 2570-2572 ไม่เกิน 20,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท

ปี 2573 เป็นต้นไป ไม่เกิน 23,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท

โดยประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ คือสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้

1. เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย

2. เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ

3. เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร

4. เงินสงเคราะห์กรณีตาย

5. เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน

6. เงินบำนาญชราภาพ

สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ

อย่างไรก็ตามลูกเพจมีความเห็นอย่างไรกันอย่าลืมไปแสดงความคิดเห็นกันได้นะคะที่ law.go.th

คลิปอีจันแนะนำ
ดิว อริสรา รับเเฉเพราะเเผลในใจ โดนเบนซ์ ทำร้ายร่างกาย