ราคาน้ำมันวันนี้ ‘เบนซิน’ ลง 50 สต. มีผลเช้ามืดพรุงนี้ (27 ก.ย.66)

สายเบนซินยิ้มหวาน! ราคาน้ำมัน พรุ่งนี้ (27 ก.ย.66) เบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ลงแรง 50 สตางค์/ลิตร ฟาก ‘ดีเซล’ ราคาเดิม

น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ได้ฤกษ์ปรับลงอีกแล้ว หลังปรับลดลงเมื่อวันที่ 23 ก.ย.66 ที่ผ่านมา โดย PTT Station แจ้งว่า ปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดลดลง 50 สตางค์ต่อลิตร เว้นพรีเมี่ยม GSH95 และกลุ่มดีเซลทุกชนิดคงเดิม มีผล 27 ก.ย.66 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป

โดยราคาขายปลีกจะเป็นดังนี้ ULG = 47.24, GSH95 = 39.45, E20 = 37.14, GSH91 = 39.18, E85 = 36.79, พรีเมี่ยม GSH95 = 44.94, HSD-B7 = 29.94, HSD-B10 = 29.94, พรีเมี่ยมดีเซล B7 = 40.24 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร

ขณะที่ ปั๊มบางจาก แจ้งลดราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ทุกชนิด 50 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้น Hi Premium 97 (GSH95++) และกลุ่มดีเซลราคาคงเดิม

BCP Retail Price : GSH95S EVO 39.45/ GSH91S EVO 39.18/ GSH E20S EVO 37.14 / GSH E85S EVO 36.79 / Hi Premium 97 (GSH95++) 49.34 / Hi Diesel B20S 29.94/ Hi Diesel S 29.94 / Hi Diesel S B7 29.94 / Hi Premium Diesel S B7 42.34 (ราคาดังกล่าวยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องที่กทม.)

ด้าน บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25-29 ก.ย. 66) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ขณะที่อุปสงค์ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ล่าสุดปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบปี

อย่างไรก็ตาม ตลาดมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้ง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คาดว่าจะแข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งคาดจะส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

1.สถาบันการเงินหลายแห่งและบริษัทพลังงาน คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรลในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากความกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร นำโดย ซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย

ขณะที่ ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี โดย Goldman Sachs มีการปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าขึ้นจากเดิมที่ 93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรลขึ้นเป็น 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ซึ่งสอดคล้องกับ Citibank และ Chevron ที่มีมุมมองคล้ายกัน

2.ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ปริมาณการนำเข้าคาดจะปรับลดลง โดย สำนักงานพลังงานสากลสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 2.1 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่งโอกลาโฮมา ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ ก.ค.65

3.ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบและสินทรัพย์เสี่ยง หลังในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. 66 ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 – 5.50% พร้อมทั้งมีการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครึ่งในปีนี้และจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเพื่อชะลอผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 3.2% มาอยู่ที่ 3.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ราว 4.3%

4.เศรษฐกิจจีนในเดือน ส.ค.66 เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมาและคาดการณ์ว่าจะช่วยสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันของจีน หลังรัฐบาลมีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคารกลาง โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น 4.5% จากปีก่อนหน้า สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ปรับขึ้น3.7% ขณะที่ยอดค้าปลีกปรับเพิ่มขึ้น 4.6% สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ปรับขึ้น 2.5%

5.จับตาสถานการณ์คว่ำบาตรของสหรัฐฯ กับอิหร่านและเวเนซุเอลา ล่าสุดสหรัฐฯ และอิหร่าน ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้น โดยอิหร่านได้ปล่อยตัวนักโทษสหรัฐฯ แลกกับการเข้าถึงเงินทุน 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีและอาจนำไปสู่การเจรจาเพื่อยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด สำหรับเวเนซุเอลา สหรัฐฯ เปิดเผยว่าพร้อมที่จะมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรหากสามารถจัดการเลือกตั้งประธานาธิปดีในปีหน้าอย่างโปร่งใส

6.เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 66 ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ เดือน ส.ค.66 GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปี 2566