วางแผนรู้เรื่องเข้าใจ “ภาษี” เตรียมการก่อนกำหนดยื่น อย่างถูกต้อง

เข้าใจมากแค่ไหน ก่อนเสียภาษี เตรียมให้พร้อมก่อนถึงกำหนดยื่นสำหรับปีภาษี 2565 เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี ?

“ภาษี” คำสั้นที่ยากจะเข้าใจจริงหรอ คำที่ชวนให้หลายๆ คนต้องปวดหัวอาจเพราะภาษาที่เข้าใจยากบวกกับขั้นตอนที่ดูซับซ้อนทำให้รู้สึกขยาดขึ้นมา แต่ไม่ว่าอย่างไร… “การจ่ายภาษี” ก็เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนเมื่อเรากล้าบอกว่าจะเป็นคนไทยที่ดีแล้วละก็ จำเป็นต้องทำความรู้จัก “หน้าที่” ที่ดีซะก่อน เริ่มจากภาษีของประเทศไทยนั้นมีโครงสร้างอยู่ 2 ลักษณะ 

  1. ภาษีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ต้องรับผิดชอบจ่ายภาษีเหล่านี้เอง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย เป็นต้น

  2. ภาษีที่จัดเก็บจากผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีผลักภาระภาษีไปยังผู้บริโภคได้ (โดยการบวกไว้ในราคาสินค้า) เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ เป็นต้น

สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราเป็นผู้ที่มีเงินได้หรือรายรับเข้ามาในระหว่างปีที่ผ่านมาคือ “การเสียภาษี” และเมื่อครบ 1 ปี ภาษี ประชาชนที่มีเงินได้ มีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ 

เรามาเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้โดยทำความเข้าใจจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คืออะไร ?

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่เกิดขึ้นในปีใดๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในเดือนมกราคม ถึงมีนาคมของปีถัดไป สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ที่ต้องชำระ และเงินได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษี ขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย

ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่มีเงินได้หรือรายรับเกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาโดยมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

        1)   บุคคลธรรมดา

        2)   ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

        3)   ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี

        4)   กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

        5)  วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

เงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี ? 

กรณีทำงานประจำ มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ไม่มีโบนัส ค่าคอมมิชชั่น ค่าโอที เงินปันผล หรือรายได้ส่วนอื่น ๆ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ “เงินได้” กับ “เงินได้สุทธิ” นั้นต่างกันนะค่ะ เพราะเงินได้ คือ ส่วนของรายรับทั้งหมดที่เราได้รับตลอดปีที่ผ่านมา เช่น เงินเดือน เงินโบนัส เงินปันผลต่าง ๆ หรือเงินจากอาชีพเสริม เป็นต้น ซึ่งเรานั้นจะต้องทำการยื่นภาษีในช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคมของปีถัดไป เช่น เราต้องยื่นแบบแสดงภาษีภายในเดือนมีนาคม 2566 นั่นหมายความว่าเราจะคิดจากรายได้ทั้งหมดในปี 2565 แล้วค่อยนำมาหักค่าใช้จ่ายรวมถึงค่าลดหย่อนทีหลังจึงกลายเป็น “เงินได้สุทธิ” แล้วแบบนี้เราต้องเสียภาษีไหม  โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่า เงินได้สุทธิที่ไม่เกิน 150,000 บาท ต่อปีจะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนเงินได้สุทธิที่เกิน 150,000 บาท ต่อปีต้องเสียภาษี 5-35% ตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

อัตราเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเทียบเงินได้สุทธิต่อปี

รายได้สุทธิต่อปี ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี

รายได้สุทธิต่อปี 150,001 – 300,000 บาท อัตราเสียภาษี 5%

รายได้สุทธิต่อปี 300,001 – 500,000 บาท อัตราเสียภาษี 10%

รายได้สุทธิต่อปี 500,001 – 750,000 บาท อัตราเสียภาษี 15%

รายได้สุทธิต่อปี 750,001 – 1,000,000 บาท อัตราเสียภาษี 20%

รายได้สุทธิต่อปี 1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราเสียภาษี 25%

รายได้สุทธิต่อปี 2,000,001 – 5,000,000 บาท อัตราเสียภาษี 30%

รายได้สุทธิต่อปี 5,000,000 บาท ขึ้นไป อัตราเสียภาษี 35%

แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนที่มีเงินเดือนน้อยไม่เกิน 150,000 บาท  แล้วไม่จะเป็นต้องเสียภาษี เพราะบางคนได้เงินเดือนน้อยก็จริง แต่มีรายได้อื่น ๆ นอกจากเงินเดือนที่ต้องนำมารวมเป็นรายได้ทั้งปีด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าคอมมิชชั่น, เงินโอที, เบี้ยเลี้ยงพิเศษ, โบนัส, เงินปันผล, รายได้จากการทำฟรีแลนซ์, รายได้จากการขายของออนไลน์, กำไรจากการลงทุน ฯลฯ จึงทำให้เงินได้มากกว่าเงินประจำซึ่งหากไม่มีค่าลดหย่อนภาษีอื่น ๆ มาหักลบออก จากรายได้สุทธิก็จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ฐานภาษี 5%

กลับกันหากคนที่มีเงินเดือนสูง แต่มีค่าลดหย่อนภาษีหลายรายการก็อาจไม่ต้องเสียภาษีเลย ก็ได้ เช่น   เช่น มีเงินเดือน 30,000 บาท แต่มีค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท ลดหย่อนบิดา-มารดา รวม 60,000 บาท จ่ายประกันสังคม 5,100 บาท จ่ายเบี้ยประกันชีวิต 20,000 บาท ซื้อกองทุนรวม RMF 10,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 160,000 บาท จะเหลือรายได้สุทธิ 74,900 บาท จึงไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราต้องขอใบกำกับภาษีทุกครั้งหลังมีการใช้จ่าย

ถ้าไม่ชำระในกำหนดเวลาหรือชำระไม่ถูกต้องจะมีความรับผิอย่างไรบ้าง? 

เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถือเป็นบทลงโทษเกี่ยวกับภาษีอากรอย่างหนึ่งและอาจมีโทษทางอาญาด้วยแล้วแต่ ความผิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงขั้นไหน โดยหากบุคคลใดยื่นแบบฯ ภายในกำหนดแต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน หรือ ยื่นแบบฯ ล่าช้าละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบฯ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และ หากฝ่าฝืนไม่ยอมชำระก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วย ซึ่งจะมีบทลงโทษ 

  • กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ1.5 ต่อเดือน 

(เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับตั้งแต่ วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี 

  • กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียกและปรากฏว่าไม่ได้ยื่น แบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณีเงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี 

  • กรณีไม่ยื่น แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท

  • กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสีย ภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปีและปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท 

  • กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อเข้าใจภาษีมากขึ้น และการยื่นเสียภาษีก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรหลีกเลี่ยง ดังนั้นเราควรทำความเข้าใจในเบื้องต้นเพื่อจะรู้ว่าเราถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่และถ้าต้องเสียควรทำอย่างไรให้ถูกต้อง 

ขอบคุณข้อมูล กรมสรรพากร , finnomena , moneybuffalo , southeastlife

คลิปอีจันแนะนำ
โจรชิงทอง โลตัสพัทยา หอบทองไป 2 ถาด