ครม. เห็นชอบปรับขึ้นค่าแรง 17 สาขาอาชีพ สูงสุด 715 บาท

ครม. มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าแรง 17 สาขาอาชีพ ให้สอดคล้องกับความสามารถของแรงงาน เริ่มต้นที่ 465 – 715 บาท จะต้องได้รับใบรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้วเท่านั้น

วันที่ 31 ม.ค. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้น “ค่าแรง 17 สาขาอาชีพ” ตามที่ กระทรวงแรงงาน ได้เสนอเพื่อเป็นการปรับอัตราค่าแรงงานให้มีความเหมาะสมกับความสามารถ โดยการปรับอัตราค่าแรงครั้งนี้จะอยู่ในสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด และผู้ที่จะได้ปรับขึ้นค่าแรงจะต้องได้รับใบรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้วเท่านั้น   

เบื้องต้นจะมีการปรับ “ค่าแรง” ในอัตรา 400-700 บาท แต่จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานแล้วเท่านั้น สำหรับรายละเอียดอาชีพที่เสนอปรับ “ค่าแรง” ตาม อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 อาชีพ จำนวน 17 สาขา ดังนี้

สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรม 

1. ช่างระบบถ่ายกำลัง    495 บาท 

2. ช่างระบบปั้มและวาล์ว 515  บาท

3. ช่างประกอบโครงสร้างเหล็ก 500 บาท

4. ช่างปรับ  500 บาท

5. ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก-แม็กด้วยหุ่นยนต์ 520 บาท

6. ช่างเทคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม  545-715 บาท

สาขาอาชีพช่างเครื่องกล 

7. ช่างซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตร   465-620 บาท 

8. ควบคุมเครื่องจักรรถตักหน้าขุดหลัง 585  บาท

9. ควบคุมเครื่องจักรรถขุด  570 บาท

10. ควบคุมเครื่องจักรรถลากจูง 555 บาท

11. ควบคุมเครื่องจักรตัก   520 บาท

สาขาอาชีพภาคบริการ 

12. นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (โภชนบำบัด)  500-600 บาท

13. นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (นักวารีบำบัด) 500-600 บาท

14. นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ  (สุคนธบำบัด) 500-600  บาท

15. พนักงานผสมเครื่องดื่ม  475-600 บาท

16. การเลี้ยงเด็กปฐมวัย 530 บาท

17. ช่างเครื่องช่วยคนพิการ  520-600  บาท 

อัตราค่าจ้างฯ นี้ จะมีผลใช้บังคับ 90 วัน หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามไม่ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่กำหนด หากนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ