ชวนผู้ปกครองออมเงินเดือนละ 300 บาท รัฐสมทบเพิ่ม 150 บาท

กองทุนการออมแห่งชาติ ชวนผู้ปกครองออมเงินให้ลูกหลาน เดือนละ 300 บาท รัฐสมทบเพิ่ม 150 บาท

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กระทรวงการคลัง เป็นกองทุนการออมภาคสมัครใจ ที่รัฐจัดให้กับแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีสวัสดิการอื่นใดรองรับได้มีบำเหน็จบำนาญในยามเกษียณเหมือนแรงงานในระบบจากเงินออมสะสม และเงินที่รัฐสมทบเพิ่มตามช่วงอายุของสมาชิก โดยมีเป้าหมายในการลดความเลื่อมล้ำในสังคม สร้างหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตของประชากร

ซึ่งการออมภาคบังคับ เป็นการออมที่ภาครัฐจัดให้กับผู้ที่เป็นแรงงานในระบบ ที่ปัจจุบันมีจำนวน 37.5 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบทั้งสิ้น 17.1 ล้านคน ที่เหลือ คือ แรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 20.4 ล้านคน ซึ่งไม่มีการออมภาคบังคับ มีเพียงการออมภาคสมัครใจที่รัฐจัดให้ คือ ประกันสังคมมาตรา 40 จำนวนกว่า 3.1 ล้านคน และกองทุน กอช.ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 2,400,435 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค.64) ยังเหลืออีกกว่า 15 ล้านคน ที่ยังไม่อยู่ในระบบสวัสดิการใดๆ

โดยล่าสุด นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้เชิญชวนผู้ปกครองออมเงินให้บุตรหลาน หรือนักเรียนมัธยมศึกษา อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปถึง 30 ปี วางแผนความมั่นคงทางการเงินในอนาคต เดือนละ 300 บาท เดือนถัดไปจะได้รับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐบาล 150 บาท และรับผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนเพื่ออนาคต

ทั้งนี้ สมาชิกสามารถออมเงินกับ กอช. ได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี รวมถึงเงินออมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ และไม่จำเป็นต้องออมเท่ากันทุกปี พร้อมเงินสมทบเพิ่มจากรัฐบาล สูงสุด 100% ไม่เกิน 1,800 บาทต่อปีทุกช่วงอายุ เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้บุตรหลาน

โดยใช้บัญชีผู้ปกครองออมเงินให้บุตรหลานด้วยการใช้บริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติรายเดือน (Direct Debit) ได้ที่ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ ซึ่งระบบจะดำเนินการหักเงินจากบัญชีเงินฝากอัตโนมัติรายเดือน เพื่อส่งเป็นเงินออมสะสมสมาชิก กอช. เข้าบัญชีกองทุน ทุกวันที่ 20 ของแต่ละเดือน ตามจำนวนเงินที่ผู้สมัครประสงค์หักบริการ

การดำเนินการดังกล่าว ก็เพื่อให้ประชาชนเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของภาครัฐในการดูแล

เนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ตั้งแต่ ปี 2548 และก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์เมื่อปี 2564 ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด โดยคาดว่าในปี 2574 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีผู้สูงอายุมากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด

คลิปอีจันแนะนำ
ครอบครัวติดใจ หลังเห็นสภาพบ้าน สารวัตรคลั่ง