สะเทือน! วงการอสังหาฯ ‘แอชตันอโศก’ เคสแรกของไทย ที่อาจโดนทุบทิ้ง!

ประวัติศาสตร์ต้องจารึก! ‘แอชตันอโศก’ เคสแรกของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย มูลค่า 6,500 ล้านบาท ที่อาจโดนทุบทิ้ง!

มหากาพย์ 9 ปีโครงการ ‘แอชตันอโศก’ มีเรื่องราวอย่างไร ‘อีจัน’ จะเล่าให้ฟังอย่างเข้าใจง่าย เริ่มตั้งแต่ปี 2557 บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้เปิดตัวคอนโดมิเนียมสุดหรู ชื่อ ‘แอชตันอโศก’ ตั้งอยู่ในทำเลทองที่สุด คือด้านหลังของ เทอร์มินอล 21 และอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าสถานีอโศก

แต่ปัญหาสำคัญคือที่ดินที่จะสร้าง ‘แอชตันอโศก’ นั้น เป็นพื้นที่ตาบอด ไม่มีทางเข้าออก ซึ่งตามกฎหมาย การก่อสร้างอาคารสูง จำเป็นต้องมีทางเข้าออกอยู่ติดถนน และมีความกว้าง 12 เมตร ซึ่งเจ้าของโครงการอย่าง อนันดา ก็แก้ไขปัญหานี้ด้วยการไปเจรจากับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อขอใช้ทางเข้า-ออก ด้านติดถนนอโศก โดยจะจ่ายเงินค่าเช่าให้กับ รฟม. เป็นจำนวน 97 ล้านบาท

ซึ่งในตอนแรก กรมโยธาธิการและผังเมือง ของกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาเห็นชอบว่า สามารถสร้างคอนโดได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้บริษัทอนันดาได้รับการรับรอง EIA หรือที่ย่อมาจาก Environmental Impact Assessment Report ซึ่งก็คือ การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โดยเป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและใช้ในการประกอบการตัดสินใจพัฒนาโครงการ ดังนั้น เมื่อผ่าน EIA แล้วทำให้ประชาชนแห่เข้าซื้อคอนโดกันอย่างล้นหลาม เพราะถูกรับรองจากภาครัฐแล้ว และพื้นที่ของคอนโดก็ตั้งอยู่ในทำเลทองจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ดราม่าของเรื่องนี้ก็คือมีผู้ไปร้องเรียนว่า การที่ รฟม. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ นำพื้นที่ของตัวเองไปใช้ประโยชน์กับเอกชนรายหนึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประชาชนราว 15 คน จึงรวมกลุ่มกัน และไปฟ้องหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร รฟม. และ EIA ที่มีส่วนช่วยเหลือออกไปอนุญาตให้กับ อนันดา ก่อสร้าง แอชตันอโศก ขึ้นมาได้

โดยประชาชนกลุ่มดังกล่าวชี้แจงว่า ตั้งแต่ช่วงก่อสร้าง บริษัท อนันดา ได้สร้างความไม่พอใจหลายอย่างให้คนในพื้นที่ เช่น การตอกเสาเข็มตั้งแต่เวลา 22.00 น.จนถึงเที่ยงคืน ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนของประชาชน อีกทั้ง การก่อสร้างกลางเมืองแบบนี้ แต่ไม่มีการปิดกั้นที่ดีพอ ทำให้ฝุ่นกระจายไปที่บ้านเรือนของประชาชน รวมถึง การก่อสร้างตึกสูงขนาดนี้ เมื่อแล้วเสร็จก็เป็นการปิดกั้นแสงอาทิตย์ และทิศทางลมด้วย

ดังนั้น เมื่อเห็นช่องว่า คอนโดนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเรื่องของทางเข้าออก จึงมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นทันที และเมื่อประชาชนมีปัญหากับรัฐ คนที่จะตัดสินคดีก็คือศาลปกครอง โดยคดีนี้ จำเลยหลักก็คือหน่วยงานของรัฐ แต่บริษัท อนันดา อยู่ในฐานะ ‘ผู้ร้องสอด’ ก็คือไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง แต่จะได้รับผลกระทบแน่ หากศาลปกครองยึดใบอนุญาตสร้างคนโตขึ้นมา

ระหว่างการสอบสวน ฝั่งอนันดา ได้โต้แย้งว่า พวกเขาขออนุญาตจาก 8 หน่วยงานรัฐแล้ว จึงกล้าก่อสร้างโครงการนี้ นอกจากนั้น ยังชี้ว่าปัจจุบันมีอย่างน้อยถึง 13 คอนโด ที่ได้ประโยชน์เรื่องของทางเข้า-ออกจากหน่วยงานรัฐ แบบนี้จำเป็นต้องทุบทุกคอนโดทิ้งทั้งหมดเลยหรือไม่

แต่จริงๆ แล้วมีหลายฝ่ายที่สนับสนุน บริษัท อนันดา อยู่เหมือนกัน โดยระบุว่า การก่อสร้างคอนโด เป็นการช่วยพัฒนาที่ดินตาบอดให้เจริญยิ่งขึ้น ส่วนพื้นที่ทางเข้า-ออก จริงๆ ก็เป็นที่ดินที่เหลือใช้ของ รฟม.อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อสร้างทางเข้าออกเสร็จ ก็สามารถนำมาใช้ร่วมกับอาคารจอดรถของ รฟม.ได้ ดังนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับถนนสาธารณะ

ซึ่งการต่อสู้คดีก็มีกันไป แต่สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ก็คือลูกบ้านของ ‘แอชตันอโศก’ ที่จ่ายเงินไปแล้ว จำนวน 668 ห้อง ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทุกอย่างค้างเติ่ง อยู่แบบนั้น และทุกๆ เดือนพวกเขาก็ต้องผ่อนจ่ายให้กับธนาคารอยู่ โดยไม่รู้อนาคตว่า ตึกจะถูกทุบทิ้งหรือไม่

สำหรับคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุด มีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว เมื่อวันที่ 27 ก.ค.66 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการนี้ เพราะว่าที่ดินของ รฟม.ไม่อนุญาตให้เอกชนมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้ แปลง่ายๆ ก็คือ เมื่อไม่มีใบอนุญาต ‘แอชตันอโศก’ มูลค่า 6,500 ล้านบาท ก็ต้องถูกทุบทิ้ง ทั้ง บริษัท อนันดา และลูกบ้านต้องเดือดร้อนมหาศาล

แต่ทีนี้ทางออก ถ้าเกิดจะไม่ทุบคอนโดทิ้งมีทางแก้อยู่ 2 ทาง ได้แก่ 1.ศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า ภายใน 270 วันหลังคำตัดสิน หากเกิด รฟม.ส่งเรื่องถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้รับความเห็นชอบ ให้อนุญาตใช้พื้นที่รัฐกับกรณีนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ คอนโดก็จะสามารถอยู่ต่อไปได้ไม่ต้องถูกทุบ

และ 2.หากไม่สามารถใช้ทางเข้า-ออก ของ รฟม.ได้ ก็ต้องหาทางเข้า-ออกอื่นแทน โดยประเมินว่า บริษัท อนันดา ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อนำไปซื้ออาคารของผู้อื่นประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อทำเฉพาะทางเข้า-ออกอย่างเดียว

ทั้งนี้ หากไม่ทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งภายใน 270 วันนี้ ก็ไม่มีทางเลือก นอกจากจะนำมาสู่การทุบ ‘แอชตันอโศก’ ต่อไปในอนาคต ดังนั้น ลูกบ้านจึงยังมีหวังอยู่ว่า ตึกจะไม่โดนทุบทิ้ง