แนะนำเทคนิคการ เลี้ยงจิ้งหรีด แบบประหยัดต้นทุน

ชี้เทคนิค การเลี้ยงจิ้งหรีด แบบประหยัดต้นทุน แถมสามารถสร้างรายได้ดีอีกด้วย

“ เลี้ยงจิ้งหรีด ” ที่นับวันยิ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะเนื่องจาก เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ปลอดสารพิษ รักษาโรคขาดสารอาหารได้ และ เป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับครอบครัว ใช้พื้นที่น้อย ซึ่ง จิ้งหรีด นั้น จัดเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่พบได้ในทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะเขตร้อนอย่างประเทศไทย จิ้งหรีดมักกัดกินต้นหญ้าหรือกินพืชใบเขียว ซึ่งขนาดที่พบจะแตกต่างกันไปตามชนิด และสายพันธุ์ของจิ้งหรีด วงจรชีวิตจากไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาสั้นๆทำให้ได้จำหน่ายไว้

สายพันธุ์จิ้งหรีด ที่พบในไทย

จิ้งหรีดที่พบในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มี 4 ชนิด ดังนี้

1. จิ้งโกร่ง (Brachtrupes Portentosus Lichtenstein)

หรือบางที่เรียก จิโปม, จิ้งกุ่ง, จินาย เป็นต้น เป็นจิ้งหรีดขนาดใหญ่ โตเต็มวัยลำตัวกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 3.5-4.0 ซม. ขุดรูตามดินร่วนปนทราย กลางคืนออกหากิน และส่งเสียงร้องดังในช่วงเวลากลางคืน

2. จิ้งหรีดทองดำ (Gryllus Bimaculatus Degeeer)

หรือบางที่เรียก จิโหลน เป็นจิ้งหรีดขนาดกลาง โตเต็มวัยลำตัวกว้างประมาณ 0.6-0.7 ซม. ยาวประมาณ 2.8-3.0 ซม. ชอบอาศัยตามกองไม้ กองใบไม้ ร่องดิน ออกหากินในเวลากลางคืน

3. จิ้งหรีดทองแดง (Teleogryllus Testaceus Walker)

หรือบางที่เรียก จิ้งหรีดนิล หรือ จินาย เป็นจิ้งหรีดขนาดกลาง โตเต็มวัยลำตัวกว้างประมาณ 0.5-0.6 ซม. ยาวประมาณ 2.5-2.80 ซม. ชอบอาศัยตามกองไม้ กองใบไม้ ร่องดิน ออกหากินในเวลากลางคืน

4. จิ้งหรีดทองลาย (Modicogryllus Confirmata Walker)

หรือนิยมเรียกว่า แมงสดิ้ง เป็นจิ้งหรีดขนาดกลาง ขนาดลำตัวกว้างประมาณ 0.4-0.55 ซม. ยาวประมาณ 2.0-2.5 ซม. ชอบอาศัยตามกองไม้ กองใบไม้ ร่องดิน ออกหากินในเวลากลางคืน และไม่ขุดรูอาศัย

การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด

สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมี 2 ชนิด ได้แก่ จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ และ พันธุ์ทองแดง โดยอุปกรณ์การเลี้ยงจิ้งหรีด มีดังนี้

– บ่อเลี้ยงอาจเป็นวัสดุประยุกต์ต่าง ๆ เช่น กะละมัง ถังน้ำ แต่โดยทั่วไปนิยมใช้บ่อซีเมนต์สำเร็จรูป หรือการก่ออิฐเป็นสี่เหลี่ยม ตามความสะดวกสบาย และทุนทรัพย์ของคนเลี้ยง หากเลี้ยงหลายบ่อควรให้มีระยะห่างของบ่อ ประมาณ 1 เมตร หรือมีระยะที่สามารถเดินเข้าออกได้สะดวกให้อาหารและดูแล

– ผ้าเขียวหรือลวดตาข่าย

ใช้สำหรับครอบปิดปากบ่อเพื่อป้องกันจิ้งหรีดไต่หรือกระโดดออกจากบ่อ และป้องกันศัตรูของจิ้งหรีด เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก นก เป็นต้น ควรมีขนาดที่คลุมมิดทั้งปากบ่อที่สามารถใช้เชือกรัดปิดรอบบ่อได้

– ถาดน้ำ และถาดอาหาร

ถาดน้ำควรมีลักษณะทรงสี่เหลี่ยมด้านขนาน กว้างประมาณ 5 ซม. สูงประมาณ 3-5 ซม. และยาวตั้งแต่ 10 ซม. ขึ้นไป วางในบ่อ 3-5 อัน ตามจำนวนที่เลี้ยง ส่วนถาดอาหารควรมีลักษณะเป็นวงกลม เช่น ถาดอาหารทั่วไปตามท้องตลาด 1-2 ถาด

การจับจิ้งหรีด เพื่อจำหน่าย

จิ้งหรีดที่เลี่ยงจะสามารถจับจำหน่ายได้เมื่ออายุประมาณ 35 วัน ขึ้นไป หลังฟักออกจากไข่ ซึ่งวิธีการจับจะใช้การเปลี่ยนวัสดุหลบอาศัยหรือเป็นวัสดุที่ใส่ตั้งแต่ตอนแรกที่สามารถเก็บรวบรวมจิ้งหรีดขณะหลบซ่อนตัวได้ดี