
เกษตรกรที่ปลูกผักในศูนย์เรียนรู้การเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ใช้พื้นที่กว่า 2 งาน ปลูกผักระยะสั้น สร้างรายได้วันละ400-500 บาท อีกทั้ง ผักที่ปลูกนั้นปลอดสารเคมีอย่างแน่นอน ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค มีพ่อค้า-แม่ค้า เข้ามารับถึงที่ บางครั้งก็นำออกไปจำหน่ายเองตามบ้านหรือตามตลาดนัด ต่างๆ
ที่ศูนย์เรียนรู้การเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ได้มีเกษตรกรมาจับจองขอใช้พื้นที่ในการทำการเกษตร เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยการปลูกพืชผักชนิดต่างๆ สลับกันไป ถึงแม้ว่าในช่วงนี้จะอยู่ในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง ลมกระโชกแรงเป็นบางครั้งซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ ปลูกผัก แต่ปัญหาเรื่องน้ำที่ใช้รดผักนั้น เกษตรกร ไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากมีแหล่งน้ำ จึงทำให้ผักไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
จากการสอบถาม เกษตรกร ที่ปลูกผัก บอกว่า ตนเอง ปลูกผัก จำหน่ายมานานนับปีสิบปีแล้ว โดยจะปลูกพืชระยะสั้น เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง แตงกวา ผักกาด ที่ใช้ระยะเวลาการปลูก 1-2 เดือนเท่านั้นก็สามารถเก็บผักจำหน่ายให้กับพ่อค้า แม่ค้า หรือจำหน่ายให้กับประชาชน โดยผักบุ้งขาย 30 บาทต่อกิโลกรัม ผักกวางตุ้งขาย 30 บาทต่อกิโลกรัม แตงกวาขาย 20 บาทต่อกิโลกรัม ผักกาด กิโลกรัมละ 50 บาท สร้างรายได้ วันละ 400-500 บาท นับว่าเป็นรายได้ที่ดี
ซึ่งการที่ผักราคาดีนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากผักในท้องตลาดมีน้อย อีกทั้ง ตนเองปลูกผักชนิดที่เป็นที่ต้องการของตลาด ผักของตนนั้นปลูกลงดิน แต่ไม่ใช้สารเคมี โดยจะใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก แทนสารเคมี ผักของตนนั้นจะมีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อถึงที่ หากผักมีจำนวนมาก ตนเองจะนำไปขายตามตลาดนัดต่างๆ รวมถึงส่งให้กับลูกค้าประจำ เนื่องจากลูกค้ามั่นใจว่าผักของตนปลอดสารพิษ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก