เทคนิคพิเศษเลี้ยงปลาบ่อ 4 เดือนจับขาย

เลี้ยงปลาช่อนอย่างไรให้ประสบการณ์ความสำเร็จ

เลี้ยงปลาช่อนเสริมรายได้ใช้ เวลา 3-4 เดือน ก็รับทรัพย์

ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดธรรมชาติทั่วไป

ปลาช่อนเป็นปลาที่เนื้อรสชาติดีก้างน้อยสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิดจึงทำให้การบริโภคปลาช่อนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันปริมาณปลาช่อนที่จับได้จากแหล่ง น้ำธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากการทำประมงเกินศักยภาพการผลิต ตลอดจนสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเสื่อมโทรมตื้นเขินไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ทำให้ปริมาณปลาช่อนในธรรมชาติไม่เพียงพอต่อ การใช้ประโยชน์และความต้องการบริโภค การเลี้ยงปลาช่อนจึงเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลน โดยนำลูกปลาที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติและจากการเพาะขยายพันธุ์มาเลี้ยงให้เป็นปลาโตตามขนาดที่ตลาดต้องการต่อไป

การเตรียมพันธุ์ปลา

ลูกพันธุ์ปลาช่อนมีที่มาจาก 2 แหล่ง คือ จากธรรมชาติและจากการเพาะพันธุ์ ลูกพันธุ์จากธรรมชาติได้จากการช้อนลูกครอกตามแหล่งน้า ส่วนลูกพันธุ์จากการเพาะพันธุ์ ได้จากการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ให้แก่พ่อแม่พันธุ์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผสมพันธุ์ แล้วนาไข่ไปฟักและอนุบาล ข้อดีของลูกพันธุ์จากการเพาะพันธุ์คือ ลูกพันธุ์มีขนาดใกล้เคียงกัน สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ เพื่อสะดวกในการนาไปเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดต่อไป

การเตรียมบ่อเลี้ยงปลา

การเลี้ยงปลาช่อนเพื่อให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการนั้น นิยมเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งมีหลักการเตรียมบ่อดินเหมือนกับการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วไป ดังนี้

1. ตากบ่อให้แห้ง

2. ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพของดิน ในอัตราประมาณ 60–100 กิโลกรัมต่อ ไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 7วัน

3. ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลาในอัตราประมาณ 40-80 กิโลกรัมต่อไร่

4. สูบน้ำเข้าบ่อโดยกรองน้ำเพื่อไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำ จนกระทั่งมีระดับน้ำลึก30-40 เซนติเมตร ทิ้งระยะไว้ 1-2 วัน จึงปล่อยปลา ลูกปลาจะได้มีอาหารกินจากที่ได้เตรียมอาหารธรรมชาติในบ่อ (ข้อ 3) เรียบร้อยแล้ว

5. ก่อนปล่อยลูกปลาลงบ่อเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำในภาชนะลำเลียงและในบ่อให้ใกล้เคียงกัน สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปลาควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า

ขั้นตอนการเลี้ยงปลาด้วยอาหารสด

ปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนจึงต้องเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมเลี้ยงด้วยปลาเป็ด

1. อัตราปล่อยปลา ลูกปลาขนาด 8-10 เซนติเมตร น้ำหนัก 30-35 ตัวต่อกิโลกรัม ควรปล่อยในอัตรา 40-50 ตัวต่อตารางเมตร ในวันแรกที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหารเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น

2. การให้อาหาร เมื่อปล่อยลูกปลาช่อนลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงลูกปลาช่อนมีขนาดเล็กคือ ปลาเป็ดผสมรำในอัตราส่วน 4 : 1 หรืออัตราส่วนปลาเป็ด 40 เปอร์เซ็นต์ รำ 30 เปอร์เซ็นต์ หัวอาหาร30 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกิน 4-5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลา วางอาหารไว้บนตะแกรงหรือภาชนะแบบลอยไว้ใต้ผิวน้ำ 2-3 เซนติเมตร และควรวางไว้หลายๆ จุด

3. การถ่ายเทน้ำ ช่วงแรกความลึกของน้ำในบ่อควรอยู่ที่ระดับ 30-40 เซนติเมตร แล้วค่อยๆ เพิ่มระดับน้ำ สัปดาห์ละ 10 เซนติเมตร จนได้ระดับ 50 เซนติเมตร จึงถ่ายน้ำวันละครั้ง หลังจากอนุบาลลูกปลาในบ่อดินประมาณ 2 เดือน ปลาจะโตไม่เท่ากัน ใช้อวนลากลูกปลาเพื่อคัดขนาด มิฉะนั้นปลาขนาดใหญ่จะ กินปลาขนาดเล็ก

4. ผลผลิต หลังจากอนุบาลลูกปลาในช่วง 2 เดือนแล้ว ต้องใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 4-5 เดือนจะให้ผลผลิต 1-2 ตัวต่อกิโลกรัม เช่น เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งานจะได้ผลผลิตมากกว่า 6,000 กิโลกรัม

5. การจับ เมื่อปลาโตได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการจึงจับจำหน่าย ก่อนจับปลาควรงดอาหาร 1-2 วัน

6. การป้องกันโรค โรคของปลาช่อนที่เลี้ยงมักจะเกิดปัญหาคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งสาเหตุเกิดจากการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ โดยการหมั่นสังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดการให้อาหารทันที ควรรีบปรึกษาหน่วยงานกรมประมงที่อยู่ใกล้เคียง

ขั้นตอนการเลี้ยงปลาด้วยอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด

ปลาช่อนแม้จะเป็นปลากินเนื้อ แต่สามารถฝึกให้กินอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดได้ และปลาช่อนที่ได้จากการเพาะในปัจจุบันลูกปลายอมรับอาหารชนิดเม็ดได้ตั้งแต่เล็ก

1. อัตราการปล่อย ลูกปลาน้ำหนัก 27-28 ตัวต่อกิโลกรัม ปล่อยในอัตรา 700 กิโลกรัม หรือ ประมาณ 20,000 ตัวต่อ1 ไร่ ช่วงเวลาที่ทำการปล่อยเช้าหรือเย็นเพราะแดดไม่จัดจนเกินไป ข้อควรปฏิบัติ ควรคัดลูกปลาให้มีขนาดไล่เลี่ยกันมากที่สุด

2. อาหารและการให้อาหาร เมื่อปล่อยลูกปลาลงบ่อแล้ว ควรปล่อยให้ลูกปลาพักฟื้นจากการลำเลียงประมาณ 3-4 วัน จากนั้นจึงเริ่มให้อาหารซึ่งเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำ โปรตีน 40-45 เปอร์เซ็นต์โดย 2 เดือนแรกให้อาหาร 3 มื้อ เช้า เที่ยง และเย็น แต่ละมื้อให้ประมาณ 9-10 กิโลกรัม เป็นอาหารขนาดเล็กช่วงเดือนที่ 3 และ 4 ลดโปรตีนลงเหลือ 35-40 เปอร์เซ็นต์ ลดการให้เหลือ 2 มื้อ คือ เช้าและเย็น โดยให้ปริมาณมื้อละ 20 กิโลกรัม จากนั้นเมื่อปลามีอายุเข้าเดือนที่ 5 จะให้อาหารเพิ่มเป็นมื้อละ 30 กิโลกรัม ลักษณะการให้อาหารจะเดินหว่านรอบบ่อ

3. การเปลี่ยนถ่ายน้ำ เปลี่ยนถ่ายเดือนละ 1-2 ครั้ง หรือมากกว่าเพราะการถ่ายน้ำบ่อยๆ เป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของปลา การเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดน้ำไม่เน่าเสียง่ายเหมือนที่เลี้ยงด้วยอาหารสด

4. ผลผลิต เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 5 เดือน จะให้ผลผลิต 700 กรัมต่อตัว เช่น เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน จะได้ผลผลิตมากกว่า 4,000 กิโลกรัม

5. การป้องกันโรคการเลี้ยงปลาช่อนด้วยอาหารเม็ดดูแลง่ายเพราะไม่จมน้ำ ขณะที่ให้อาหารสดจมน้ำเหลือจะเน่าเสียทำให้น้ำเน่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่จะเกิดโรค แต่อย่างไรก็ตาม การเกิดโรคของปลาจะต้องจัดการเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วยการป้องกันจึงจะได้ผล ซึ่งจะดำเนินการโดยเมื่อเลี้ยงได้ 15 วัน ก็เริ่มคุมหรือป้องกันโรคด้วยยา คลุกกับอาหารให้ปลากิน 1-2 ครั้งต่อเดือน ในปริมาณยา20 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม

ผลผลิต

หลังจากการเลี้ยงปลาช่อนเป็นเวลา 3-4 เดือน ปลาช่อนมีขนาด 3-4 ตัว/กิโลกรัม จึงเก็บเกี่ยวผลผลิต

แนวโน้มการตลาด

ปลาช่อนเป็นปลาที่มีรสชาติดี อีกทั้งยังสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายรูปแบบ จึงมีผู้นิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ทำให้แนวโน้มด้านการตลาดดีสามารถส่งผลผลิตและผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“เกษตรกรจำเป็นต้องศึกษาข้อมูล และรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจเลี้ยง”

ที่มา : กรมประมง