พะเยา แปรรูปไผ่กวนอิม ไม้มงคล สร้างรายได้มากกว่า 1-2 ล้านบาทต่อปี

แปรรูปไผ่กวนอิม เป็นสินค้า O-TOP สร้างรายได้นับล้านบาทต่อปี

นางวรารัตน์ วงศ์ไชยยา ผู้ประกอบการปลูก ไผ่กวนอิม และนำมา แปรรูป เป็นไม้พุ่ม ไม้ดัด ไม้ถักสาน ในพื้นที่ ม. 3 ต.แม่อิง อ.ภูกามยาว จ.พะเยา กำลังช่วยกันกับชาวบ้านทำการ แปรรูปไผ่กวนอิม โดยการถัก และประกอบเป็นรูปร่างต่างๆตามที่ลูกค้าต้องการ เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลังจากที่หันมาประกอบอาชีพ การผลิต ไผ่กวนอิม ไม้มงคล ออกจำหน่าย และส่งให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งใน และต่างประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากรูปทรงที่ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นตามภูมิปัญญาของชาวบ้าน จึงทำให้นอกจากเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ยังสามารถที่จะสร้างรายงาน สร้างรายได้ ให้กับชาวบ้านที่นี่เป็นอย่างดี

โดยนางวรารัตน์ ผู้ประกอบการกลุ่ม ไผ่กวนอิม เผยว่า ปัจจุบันตนเองได้ปลูก ไผ่กวนอิม ประมาณ 50 ไร่ และมีการกระจายให้ชาวบ้านได้ปลูกอีก ประมาณ 60 ไร่ โดยได้นำมาแปรรูป เป็นรูปแบบต่างๆ จำนวน 5 รูปแบบ ประกอบด้วย ไม้ตรง ไม้ดัด ไม้พุ่ม ไม้ถักเปีย ไม้ถักสาน โดยราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ ไม้ตรง ราคาต้นละ 1-10 บาท ไม้ดัด ราคาเริ่มต้นที่ 10-25 บาท ไม้แปรรูปเป็นพุ่ม ถักเปีย ราคาเริ่มต้นที่ 10-15-20 แล้วแต่รูปแบบ ไม้ถักสาน ราคาเริ่มต้นที่ 50-100-200 บาท โดยการส่งออกตลาด จะมีทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศก็จะมี ที่สวนจตุจักร บางใหญ่ และสนามหลวง 2 รวมทั้งบริษัทต่างที่สั่งซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ และต่างประเทศก็จะมีตลาดประจำคือ อินเดีย อิสราเอล และอิรัก และถึงแม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ต้องเผชิญกับการขนส่ง แต่ก็ยังที่จะสามารถส่งออกได้ ซึ่งการแปรรูปไผ่กวนอิมดังกล่าวสามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี โดยเฉลี่ยแล้วเดือนละประมาณ 2 แสนบาท และต่อปีก็จะมากกว่า 1-2 ล้านบาท นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่นี่จำนวนกว่า 50 คน ได้มีรายได้ประจำตลอดทั้งปี

สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก ไผ่กวนอิม ในพื้นที่ตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกจำนวนมากกว่า 100 ไร่ โดยใช้แรงงานจากคนในชุมชน การปลูกนั้นจะมีการปลูกทั้งการทำให้เป็นไม้ดัดและไม้ตรง โดยชาวบ้าน ซึ่งจะใช้เวลาว่างจากการทำนา ได้ร่วมกันนำมาแปรรูปเป็นทั้งไม้ดัด ไม้พุ่ม ไม้ถักสาน จำหน่ายเป็นสินค้า O-TOP ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี นับเป็นอาชีพที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี