ไอเดียเจ๋ง! เกษตรใช้ ระบบไอที ลดปัญหาปลาน็อคตาย

โคราช เกษตรกรผู้เลี้ยง ปลากระชัง นำระบบไอทีแบบแจ้งเตือนออกซิเจนในน้ำ ลดปัญหาปลาน็อคน้ำตาย

เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาปรับใช้ในการเลี้ยงปลากระชัง เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนจากความสูญเสีย เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ส่งผลทำให้ทุก ๆปี ปลากระชังจะ น็อคน้ำตาย เป็นจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยง ปลากระชัง ในบริเวณนี้ ต้องสูญเสียปลากระชังไปกว่า 2 แสนตัว เสียหายเกือบ 10 ล้านบาท…

นายประเสริฐ แรมกระโทก อายุ 36 ปี หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังบ้านมะค่า วันนี้ได้ลงทุนติดระบบโซล่าเซลล์ นำไฟฟ้ามาใช้สร้างระบบป้องกันแจ้งเตือนต่าง ๆในการเลี้ยงปลากระชัง ทดแทนการใช้น้ำมัน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทั้งการติดตั้งปั๊มออกซิเจน เพื่อเพิ่มอากาศในน้ำ การติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์ภายในกระชังปลาแบบเรียลไทม์

ทั้งนี้ ยังรวมไปถึง การติดตั้งเครื่องวัดออกซิเจนในน้ำ ที่จะประมวลผลแจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์มือถือทันทีเมื่อออกซิเจนในน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสามารถเข้าไปแก้ไข ด้วยการติดปั๊มออกซิเจนเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย ซึ่งระบบเพิ่มอากาศในน้ำได้รับคำแนะนำมาจากทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มาให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งการเลี้ยงปลากระชังภายในเขื่อนลำแชะนั้น ต้องลงทุนท่ามกลางความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทั้งจากสถานการณ์ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน อีกทั้ง ยังมีปัจจัยเรื่องของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นประจำ ทำให้เกิดสถานการณ์ปลาน็อคน้ำตายในหลายๆช่วง ไม่ว่าจะช่วงเปลี่ยนสภาพอากาศ จากอากาศร้อนแล้วมีฝน อากาศจะเย็นฉับพลัน ฟ้าปิดกะทันหัน ทำให้ปลาปรับสภาพไม่ทัน และน็อคน้ำตายเป็นจำนวนมาก

และเมื่อปี พ.ศ.2556 ปลากระชังที่เลี้ยงไว้ตายหมดทั้งกระชัง ขาดทุนและสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ไปกว่าแสนบาท จึงตัดสินใจลงทุนติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ นำไฟฟ้ามาใช้ภายในกระชัง และติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด ไว้สังเกตการณ์ปลาภายในกระชัง เชื่อมต่อทางโทรศัพท์มือถือ ควบคู่ไปกับการติดตั้งปั๊มออกซิเจน เพื่อเพิ่มอากาศในน้ำได้ทันที เมื่อพบว่าปลาตายผิดปกติ ด้วยอาการขาดออกซิเจนในน้ำ

โดยล่าสุด ได้มีการนำเครื่องวัดออกซิเจนในน้ำ และลิ้งค์สัญญาณแจ้งเตือนผ่านมือถือทันที เมื่อพบว่า ค่าออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน และมีการสร้างกลุ่มไลน์สื่อสารระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาด้วยกัน เพื่อแจ้งเตือนให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลาเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ทำให้สามารถลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน