3 เรื่องเล่า ตำนาน เทศกาลกินเจ ความเชื่อที่มีมายาวนาน

3 ตำนาน เรื่องเล่า เทศกาลกินเจ ละเว้นเนื้อสัตว์ เข้าวัดถือศีล ทำจิตใจให้สะอาด

เทศกาลกินเจ หรือที่เรียกว่าประเพณีกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย) ตรงกับ วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง วันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 (เก้าโง้ยโฉ่ยอีดถึงโฉ่ยเก้า) ตามปฏิทินจีน หรือตรงกับเดือน 11 ในไทย รวมระยะเวลาทั้งหมด 9 วัน 9 คืน ในปี 2563 นี้ ตรงกับวันที่ 17 – 25 ตุลาคม

ภาพจากอีจัน



เทศกาลกินเจ (เจี๊ยะฉ่าย) เป็นความเชื่อลัทธิเต๋าซึ่งนับถือบูชาเซียนเทวดา เทพเจ้า วีรบุรุษเป็นประเพณีที่คนจีนนับถือมาช้านาน โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยน คำว่า “เจี๊ยะฉ่าย” (กินผัก) เป็นภาษาท้องถิ่น มีพิธีการตั้งโต๊ะไหว้เทพเจ้า “เจ้าแม่ปั๊กเต๋าบ้อ” จนมีเรื่องราวเล่าขานกันหลายแบบ

ภาพจากอีจัน
ตำนานที่ 1 กินเจเพื่อสักการะ พระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ ตามตำนานเล่าว่าชาวพุทธ ต่างพากันบำเพ็ญศีล งดกินเนื้อสัตว์ แต่งกายด้วยชุดขาว เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีตทั้ง 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์รวมเป็น 9 องค์ หมายถึง ดาวนพพระเคราะห์ ทั้ง 9
ภาพจากอีจัน
ตำนานที่ 2 รำลึกถึงนักรบ ช่วงแมนจูเป็นใหญ่ นักรบจีนนามว่า หงี่หั่วท้วง ได้ต่อสู้กับกองทัพแมนจูอย่างห้าวหาญ ถึงแม้ว่าทางแมนจูจะเหนือกว่าด้วยการมีอาวุธตะวันตกที่ล้ำสมัย ชาวบ้านเห็นความฮึดสู้ของหงี่หั่วท้วง จึงได้ตัดสินใจทำบุญให้ด้วยการละเว้นผักที่มีกลิ่นและเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ด้วยความหวังว่าจะเป็นกุศลช่วยหงี่หั่วท้วงไม่ให้มีสงครามเกิดขึ้น
ภาพจากอีจัน
ตำนานที่ 3 บูชากษัตย์องค์สุดท้าย ชาวฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นชาวจีนบนแผ่นดินผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ่งได้แสดงความเคารพบูชากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่สวรรคตเมื่ออายุเพียง 9 พรรษา ด้วยการจัดให้มีพิธีกรรมกินเจ ก่อนที่พิธีกรรมนี้จะถูกเผยแพร่มาที่ไทยในเวลาถัดมา ถึงแม้ตำนานเทศกาลกินเจ จะมีหลากหลายเรื่องราว แต่ความเชื่อความศรัทธา จุดมุ่งหมายเดียวกันก็ เพื่อละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำจิตใจให้สะอาดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง.