อัปเดตกฎหมายรถบรรทุก  พร้อมข้อมูลที่คนขับรถต้องรู้

อัปเดตกฎหมายรถบรรทุก พร้อมข้อมูลที่คนขับรถต้องรู้

หลายคนที่คิดอยากจะทำอาชีพขับรถบรรทุก ควรต้องรู้เรื่องข้อบังคับและกฎหมายของรถบรรทุกก่อน เพื่อจะได้ไม่กระทำการผิดกฎ และทำให้เสียค่าปรับ

สำหรับคนที่คิดจะทำอาชีพขับรถบรรทุก ต้องรู้ก่อนว่า ใบขับขี่รถบรรทุก มี 2 ประเภท แบ่งออกเป็น 2 ชนิดค่ะ

· ใบขับขี่ประเภท บ.2 สำหรับ รถบรรทุก ส่วนบุคคล (ป้ายทะเบียนพื้นขาว) ใช้เพื่อการบรรทุกส่วนบุคคลเท่านั้น ห้ามใช้ในเชิงพาณิชย์ 

· ใบขับขี่ประเภท ท.2 เป็นใบขับขี่ที่สามารถใช้ขับรถได้ทุกประเภท (ป้ายทะเบียนพื้นเหลือง) ทั้งเพื่อส่วนบุคคลและเชิงพาณิชย์ 

สำหรับกฎหมายใหม่รถบบรทุก เจ้าของรถ หรือ ผู้ขับขี่ต้อง มีดังนี้

ต้องติดตัวยึดและมีผ้าคลุม

ในกรณีที่รถบรรทุกมีการบรรทุกของมานั้นจะมีอุปกรณ์ตัวล็อคอย่างแน่นหนา และต้องทำการคลุมสิ่งของเหล่านั้นด้วยผ้าที่มีสีทึบ เพื่อไม่ให้ของที่บรรทุกมานั้นตกหล่น ปลิว หรือกระเด็นใส่รถคันอื่นๆ ซึ่งถ้าหากมีการฝ่าฝืนไม่ทำตาม ก็จะมีระวางโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท และสำหรับคนขับจะถูกปรับไม่เกิน 5,000 บาท และอาจถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบขับขี่ด้วยเช่นกัน

ติดสัญลักษณ์เมื่อมีการบรรทุกของเกินขนาด

เมื่อมีการบรรทุกของเกินขนาด หรือเกินออกมาจากตัวรถ จะต้องติดป้ายสัญลักษณ์เอาไว้ให้ผู้ร่วมใช้ถนนได้รับทราบหรือสังเกตเห็น และหากขับในเวลากลางคืนก็ควรจะติดไฟเอาไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการสังเกตเห็นจากรถคันอื่นๆ จะต้องระยะไม่ต่ำกว่า 150 เมตร หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 1,000 บาท

ติดอุปกรณ์ที่มีแสง หรือสะท้อนแสง

รถบรรทุก รถสิบล้อ จะต้องติดอุปกรณ์ให้แสง หรือสะท้อนแสง อย่างเช่น ไฟสปอร์ตไลท์ ไฟ LED หรือแผ่นสะท้อนแสง ซึ่งการติดไฟหรืออุปกรณ์สะท้อนแสงนั้น จะบังคับใช้กับรถบรรทุกที่มี 2 เพลา 4 ล้อ และยาง 6 เส้นขึ้นไป และการติดตะต้องติดให้ถูกตำแหน่งและห้ามติดไฟแต่งต้องเป็นไฟที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท หรืออาจถูกระงับการใช้รถจนกว่าจะแก้ไข

ต้องติดป้ายเตือนเมื่อขนวัตถุไวไฟ

รถบรรทุกก๊าซ ของเหลวไวไฟ วัตถุระเบิด สารพิษ-ติดเชื้อ และสารกัดกร่อน จะต้องทำการติดป้ายเตือน หรือแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นอย่างชัดเจน รวมไปถึงจะต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงติดรถอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท จำคุก 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานผิดกฎหมายจราจรรถบรรทุก พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 17

ติดตั้ง GPS

รถบรรทุก รถสิบล้อ จะต้องมีการติดตั้ง GPS และเปิด GPS ไว้ตลอดเวลา เพื่อเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถของภาครัฐ ให้รัฐสามารถติดตามพฤติกรรมการขับขี่ได้ หากฝ่าฝืนหรือไม่ทำตามกฎจะมีโทษปรับสูงสุด 1,500 บาท

มาถึงเรื่องการวิ่งรถบรรทุก  จะมีการกำหนดช่วงเวลาวิ่ง ดังนี้ค่ะ

รถบรรทุกวิ่งพื้นราบในกรุงเทพฯ  (ไม่ได้วิ่งบนทางด่วน)

·   รถบรรทุกถังขนก๊าซ-วัตถุไวไฟ ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป และรถพ่วง เดินรถในเขตกรุงเทพฯ ห้ามวิ่งในช่วงเวลา 06.00-22.00 น. ของทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์

·  รถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป ห้ามวิ่งในช่วงเวลา 06.00-09.00 น. และ 16.00-20.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ

·  รถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ห้ามวิ่งในช่วงเวลา 06.00-10.00 น. และ 15.00-21.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ

· รถบรรทุกอื่นๆ เช่น รถบรรทุกซุง เสาเข็ม ห้ามวิ่งในช่วงเวลา 06.00-21.00 น.

แต่ถ้าเป็นรถบรรทุกที่วิ่งบนทางด่วนในกรุงเทพฯ มีข้อกำหนด ดังนี้

·  รถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป ห้ามวิ่งในช่วงเวลา 06.00-09.00 น. และเวลา 16.00-20.00 น.

· รถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ห้ามวิ่งในช่วงเวลา 06.00-09.00 น. และเวลา 15.00-21.00 น.

· รถบรรทุกสารเคมี ห้ามวิ่งในช่วงเวลา 06.00-10.00 น. และ 15.00-22.00 น.

ส่วนรถบรรทุกที่วิ่งในเขตต่างจังหวัด จะสามารถวิ่งในช่วงเวลา ดังนี้

·พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ วิ่งได้ในเวลา 10.00-16.00 น. และ 20.00-06.00 น.

·พื้นที่นนทบุรี/ปทุมธานี 09.00 -16.00 น. และช่วง 19.00-06.00 น.

· รถบรรทุกที่วิ่งขนส่งในต่างจังหวัดสามารถวิ่งรับส่งได้ตามเวลาที่กำหนดคือช่วง 10.00-16.00 น. และช่วง 21.00-06.00 น.

สำหรับน้ำหนักในการบรรทุก มีข้อกำหนดดังนี้

ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61 กำหนดไว้ว่าห้ามมีการใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่กำหนดบนทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน เนื่องจากรถบรรทุกที่มีน้ำหนักมากเกินไปอาจทำให้ทางหลวงชำรุดเสียหายได้

· บรรทุกไม่เกิน 9.5 ตัน สำหรับรถบรรทุกขนาด 4 ล้อ

· บรรทุกไม่เกิน 15 ตัน สำหรับรถบรรทุกขนาด 6 ล้อ 

· บรรทุกไม่เกิน 25 ตัน สำหรับรถบรรทุกขนาด 10 ล้อ 

· บรรทุกไม่เกิน 50.5 ตัน สำหรับรถพ่วง 6 เพลา 22 ล้อ

ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกริบรถบรรทุกที่ใช้ในการกระทำความด้วยเช่นกัน

Related Stories

No stories found.
logo
ข่าว อีจัน
www.ejan.co