ระวังโดนจับ ! ใครนำเข้า-จำหน่าย-ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า โทษหนักทั้งจำ-ปรับ

จากกรณีข่าวดาราสาวชาวไต้หวันโดนตำรวจไทยรีดไถเงิน ในข้อหาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าจนเป็นประเด็นทางสังคม ทำให้เรื่องการจำหน่าย - พกพา รวมถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่พูดถึงในวงสังคมอีกครั้ง
ระวังโดนจับ ! ใครนำเข้า-จำหน่าย-ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า โทษหนักทั้งจำ-ปรับ

ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างถึงความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า บางคนก็บอกว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่จริง แต่ก็มีหลายเสียงที่ออกมาบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวที่สุด และติดได้ง่ายมาก มากกว่าบุหรี่จริงเสียอีก

ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่า จึงทำให้ #บุหรี่ไฟฟ้า ยังคงเป็นสินค้าผิดกฎหมาย สินค้าห้ามนำเข้าของบ้านเราอยู่

โดยบทลงโทษของผู้ฝ่าฝืน ก็หนักเอาการณ์ทั้งผู้จำหน่าย และผู้สูบ

การจำหน่าย : คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 ระบุห้ามขาย ห้ามให้บริการบารากุ บารากุไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และน้ำยาเติมของทั้งสองชนิด โดยระบุว่าพบสารเคมีที่เป็นอันตรายหลายชนิด รวมถึงการสูบร่วมกันอาจทำให้เกิดโรคติดต่อ ดังนั้น สำหรับผู้ขายนั้น ให้มีความผิดและโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การครอบครอง : ทนายรณรงค์ แก้วเพชร ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การมีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครอง ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เพราะเป็นของต้องห้ามนำเข้า ผู้ใดรับไว้โดยประการใดซึ่งของที่ต้องห้ามนำเข้า มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับ 4 เท่าของราคา พร้อมภาษีที่ยังไม่ได้จ่าย ตามพระราชบัญญัติศุลกากร

การนำเข้า : ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2557 ให้กรมศุลกากรตรวจจับ หากผู้ใดนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า หรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 20 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก หรือทั้งจำทั้งปรับ

การขาย : ห้ามให้บริการตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2558 ผู้ใดฝ่าฝืนขายบุหรี่ไฟฟ้า จะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 3) มาตรา 56 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในกรณีที่ผู้นำเข้าและผู้ขายเป็นคนเดียวกัน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การสูบในที่สาธารณะ : มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

การครอบครอง : หากพบบุคคลใดว่าครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ตำรวจสามารถใช้มาตรา 246 ว่าด้วย ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ ซึ่งของที่รู้ว่าเป็นความผิดตามมาตรา 242 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่แม้บทลงโทษจะหนักขนาดนี้ แต่ก็ยังมีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลาย ทั้งตามตลาดนัด หรือแม้แต่ในห้างสรรพสินค้า หรือช่องทางออนไลน์ที่เข้าไปค้นหาได้ง่ายมาก รวมถึงนักสูบที่เกิดขึ้นเยอะมาก ไม่ได้เกรงกลัวบทลงโทษเลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

No stories found.

ข่าวยอดนิยม

No stories found.
logo
ข่าว อีจัน
www.ejan.co