
แท้จริงแล้ว การแต่งงานนั้น ไม่ได้เป็นเพียงการ ประกาศให้คนรอบข้างรู้ว่าเราจะเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว แต่เป็นการที่คู่หนุ่มสาวที่คบกันมาเป็นเวลาหนึ่ง เข้าใจกันและกันอย่างลึกซึ้ง และอยากที่จะมีอนาคตผ่านความสุข และความทุกข์ต่างๆร่วมกัน จึงตกลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน เรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่จะเข้ามาในชีวิตไปด้วยกัน รวมไปถึง ต้องการที่จะ สร้างครอบครัวใหม่ร่วมกัน และได้ทำการบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้
ก่อนแต่งงาน
1. เราสองคนเข้าใจคำว่า ” แต่งงาน” ตรงกันมั้ย?
ก่อนแต่งงาน หรือ ก่อนที่จะตัดสินใจที่จะใช้วันเวลาต่อจากนี้ร่วมกัน คุณสองคนควรที่จะถามตนเองก่อนว่า สำหรับคุณแล้วนั้น “การแต่งงาน” หมายถึงอะไร และมีความหมายว่าอย่างไร เพราะการแต่งงานไม่ได้เป็นเพียงการจัดงานเลี้ยง และประกาศอย่างเป็นทางการว่าคู่บ่าวสาวจะเปลี่ยนสถานะจากแฟนมาเป็นสามี ภรรยา แต่การแต่งงานหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตคู่และสร้างครอบครัวของตนเองขึ้นมา
ดังนั้น คู่รักจึงควรที่จะคุยกันสักนิดว่า คุณทั้งสองคนเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตรงกันรึป่าว ความหมายของการแต่งงานระหว่างคุณทั้งสองคนเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพราะหลังจากที่แต่งงานกันแล้ว คุณจะต้องใช้ชีวิตร่วมกันมากกว่าเดิม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีหลายเรื่องที่จะต้องปรับ รวมไปถึงคุณทั้งคู่ก็ต้องปรับตัวเองเข้าหากันอีกด้วย ควรจะตกลงกันตั้งแต่เนิ่นๆว่าจะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง เพื่อย้ำอีกครั้งว่าคุณและคู่ของคุณเข้าใจคำว่า “แต่งงาน” ตรงกัน
2. ใช้เวลากับครอบครัวของอีกฝ่าย
ก่อนแต่งงาน คุณอาจจะยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในครอบครัวของอีกฝ่ายอย่างเต็มตัว แต่หลังจากแต่งงานแล้ว ครอบครัวของสามี หรือ ภรรยาของคุณ ก็จะกลายมาเป็น ครอบครัวของคุณด้วย เพราะในชีวิตคู่นั้น จะให้อยู่กันเพียงสองคนก็คงไม่ได้ เป็นเรื่องปกติที่คู่รักของเราจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวของเรา ถ้าหากว่าคุณเข้ากันกับครอบครัวของเขาได้ดี ชีวิตหลังแต่งงานของคุณก็จะมีความสุขมากขึ้นอีกเยอะเลยหล่ะ
คนโบราณว่ากันว่า คนเราปฏิบัติตนกับบุพการีอย่างไร เมื่อมีครอบครัวก็จะปฏิบัติตนกับครอบครัวของตัวเองอย่างนั้น คุณอาจจะลองสังเกตว่าแฟนของคุณมีพฤติกรรมกับที่บ้านเขาอย่างไร จะพอช่วยเดาได้ว่าถ้าหากเค้ามีครอบครัว จะเป็นอย่างไร
แต่ถ้าคุณหรือคนรักของคุณ เข้ากันได้ไม่ดีกับครอบครัวของอีกฝ่าย ขอแนะนำให้ พูดคุยกันอย่างจริงจังสำหรับเรื่องนี้ ตกลงกันให้ดีว่าจะอยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับครอบครัวของอีกฝ่ายหรือไม่ ถ้าแยกออกมาอยู่เองจะต้องมีกิจกรรมร่วมกับครอบครัวอีกฝ่ายอย่างไรบ้าง เคลียกันให้ชัดเจน ก่อนที่จะตัดสินใจแต่งงานกัน
ก่อนแต่งงาน
3. วางแผนอนาคตร่วมกัน
อนาคต เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คู่รักต้องคุยกันให้ดีก่อนที่จะแต่งงานกัน เพราะหลังจากที่แต่งงานกันแล้ว จะไม่มีคำว่าอนาคตของคุณ หรือ อนาคตของเขา เพราะทั้งสองอย่างจะถูกรวมกันเป็นอนาคตของเรานั่นเอง
เรื่องหลักๆที่ควรจะคุยกันสำหรับอนาคตหลังแต่งงานก็คือ คุณทั้งคู่อยากมีลูกหรือไม่ จะมีหลังแต่งงานเลยหรือจะรอซัก2-3ปีดี และอยากจะมีลูกกี่คน การปรึกษากันเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยเลย เพราะคุณควรจะต้องวางแผนต่างๆสำหรับอนาคตที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงเข้าใจในความต้องการของอีกฝ่าย ว่าทำไมถึงอยากมีลูกหรือทำไมถึงไม่อยากมีลูก วางแผ่นร่วมกันตั้งแต่ตอนนี้ไปเลย จะได้ไม่ต้องมามีปัญหาให้ทะเลาะกันในอนาคต
หลังจากที่คุณทั้งสองคนตกลงกันได้แล้วว่าอยากมีลูกกี่คนดี หรือ ไม่อยากมี ก็ควรจะวางแผนการคร่าวๆไว้ สำหรับการเลี้ยงลูกนะ เช่น ต้องการให้ลูกโตมาในสังคมแบบไหน จะเลี้ยงลูกไปในแนวทางไหน มีเป้าหมายในการเลี้ยงลูกอย่างไร อย่างเช่น อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนไทย หรือ โรงเรียนอินเตอร์ จะเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ หรือ ตามประคบประหงม
4. เรื่องเงินๆทองๆ คุยกันให้ชัดเจน
อีกเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หลายๆอาจจะคิดว่า หลังจากแต่งงานแล้วนั้น เงินของใครก็เหมือนเงินของเรา แต่จริงๆแล้ว เรื่องเงินๆทองๆนับเป็นอีกเรื่องที่ชวนปวดหัวสำหรับคู่แต่งงานเลยทีเดียว เป็นเรื่องที่คู่ที่แต่งงานแล้วหลายๆคู่แนะนำให้เคลียให้จบ ตั้งแต่ ก่อนแต่งงาน
คู่รักทุกคู่ไม่ได้มีสถานะทางการเงินที่เพอเฟกต์ บางคู่อาจจะมาเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยกัน หรือ บางคู่อาจจะมีฝ่ายใดที่ต้องพึ่งพิงอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่า ดังนั้น เราจึงไม่สามารถนำวิธีการแบ่งเงิน หรือ กานใช้จ่ายใช้สอยต่างๆ ของคู่อื่น มาปรับใช้ได้ คู่รักควรจะประเมินสถานะทางการเงินของตนเอง และวางแผนการเงินของคู่คุณเอง
ซึ่งประเด็นสำคัญที่ควรจะเคลียให้ชัดก่อนแต่งงานเลยก็คือ เรื่องภาระหนี้สินของแต่ละคน เพราะถ้าหากจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ภาระหนี้สินเหล่านั้นก็จะรวมกันเป็นของคุณทั้งคู่ ใครมีหนี้อะไร ควรจะบอกให้อีกฝ่ายรับรู้ ดีกว่าจะต้องมารู้เองหลังจากแต่งงาน
5. ตกลงเรื่องละเอียดอ่อนอย่าง “ศาสนา”
ศาสนา เป็นอีกเรื่องที่ละเอียดอ่อน และสำคัญไม่แพ้เรื่องเงินเลย เพราะถ้าหากคุณนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน ความแตกต่างนั้นจะมีให้เห็นตั้งแต่พิธีการแต่งงาน จัดบ้าน วันสำคัญ ความเชื่อ ไปจนถึงวิธีการเลี้ยงลูกเลยทีเดียว โดยเรื่องหลักๆเกี่ยวกับศาสนาที่ควรจะตกลงกันให้ชัดเจนก่อนแต่งงานก็จะมีอยู่สามเรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกเลยก็คือ พิธีการแต่งงาน คู่รักต่างศาสนาควรที่จะพูดคุย และตกลงกันให้ดี ว่าจะเลือกจัดตามแบบศาสนาไหน เพราะพิธีการแต่งงานของทุกศาสนานั้นมีความแตกต่าง ทั้งข้อควรทำและ ข้อห้ามทำ รวมไปถึงการแต่งกายและของไหว้ต่างๆ ต้องการจัดตามพิธีของทั้งสองศาสนาเลยหรือไม่ หรืออิงของใครคนนึงเป็นหลัก จะได้แจ้งแขกและครอบครัวของทั้งสองฝ่ายได้อย่างถูกต้อง
เรื่องต่อมาก็คือ หลังจากแต่งงานกันแล้ว จะต้องมีใครเปลี่ยนศาสนาหรือไม่ ถ้ามี จะเป็นใคร เพราะเชื่อว่าหลายๆคนคงไม่อยากเปลี่ยนศาสนาของตนเอง ดังนั้น ตกลงกันให้ดีก่อนแต่งไปเลย ส่วนเรื่องสุดท้าย คือ ในอนาคต เมื่อมีลูกแล้ว ลูกจะนับถือศาสนาอะไร แล้วจะเลี้ยงลูกตามหลักศาสนาไหนนั่นเอง
6. ใครจะทำงาน ใครจะดูแลบ้าน ?
ข้อนี้สำคัญสุดๆ ทำให้คู่รักเตียงหักมาหลายคู่แล้ว ควรปรึกษากันให้ดีก่อนแต่งงาน ว่าจะทำงานบ้านกันเอง หรือ จะจ้างแม่บ้าน แล้วถ้าหากทำกันเอง จะทำงานไปด้วยทั้งคู่แล้วช่วยกันดูแลบ้าน หรือ จะต้องมีฝ่ายใดลาออกจากงานประจำเพื่อมาดูแลบ้าน ถ้าหากมีคนนึงต้องเลิกทำงาน แล้วจะเอาเงินที่ไหนใช้ เพราะหลายๆคนก็ชอบที่จะทำงานมากกว่าลาออกมาอยู่บ้านเฉยๆ และอีกอย่าง งานบ้านก็ถือเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น คู่รักควรจะมองการไกล และตกลงกันไปเลยว่าจะทำยังไงกับเรื่องงานบ้าน
ก่อนแต่งงาน
7. หลังจากแต่งงาน เราจะอยู่ที่ไหน ?
หลังแต่งงาน เราสองคนจะย้ายไปอยู่ที่ไหน? เป็นคำถามที่ควรคิดหาคำตอบตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะบางคู่ย้ายไปอยู่บ้านผู้ชาย บางคู่ย้ายไปอยู่บ้านผู้หญิง มีทั้งตามธรรมเนียมประเพณี และ ตามความสะดวกของแต่ละครอบครัว
แต่ถ้าหากว่า จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายนึงย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านของอีกฝ่าย ก็ต้องดูอีกว่าเราเข้ากับครอบครัวของเค้า ได้มากแค่ไหน ถ้าไม่ถูกกับครอบครัวของอีกฝ่าย เข้าไปอยู่บ้านเขาก็จะมีแต่ปัญหาตามมาในภายหลัง ชีวิตหลังแต่งงานไม่แฮปปี้แน่ๆ ส่วนคู่ไหนต้องการแยกออกมาอยู่เอง ก็ควรตกลงกันดีๆ ตั้งแต่ ก่อนแต่งงาน ว่าจะตกแต่งที่อยู่อาศัยสไตล์ไหน โทนสีอะไร เฟอร์นิเจอร์แบบไหน เอาตรงกลางที่ทั้งสองคนโอเค จะได้อยู่ร่วมกันแบบมีความสุข
8. ต้องรู้เรื่องสุขภาพทั้งคู่ ก่อนแต่งงาน
สุขภาพร่างกายเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อจะตกลงแต่งงานกัน ก่อนแต่งงาน ก็ควรจะมั่นใจในสุขภาพของอีกฝ่ายด้วย ควรพากันไปตรวจเช็คสุขภาพของทั้งคู่ ว่าแข็งแรงสมบูรณ์ดีหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจเช็คความพร้อมสำหรับการมีบุตร และโรคประจำตัวต่างๆที่อาจส่งต่อไปยังรุ่นลูกได้ เพื่อที่จะได้นำไปประกอบกับการวางแผนอนาคต และการวางแผนการมีบุตรด้วย
9.ทะเบียนสมรส จดหรือไม่จด ?
การแต่งงาน คือ การเริ่มต้นชีวิตคู่ทางพฤตินัย แต่ในทางกฏหมายแล้ว ชีวิตคู่จะได้เริ่มต้นขึ้นอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ ทั้งสองคนได้จดทะเบียนสมรสกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นก่อนแต่งงาน ทั้งคู่ควรคุยกันให้ชัดเจนตั้งแต่ ก่อนแต่งงาน ว่ามีความต้องการที่จะจดทะเบียนสมรสด้วยหรือไม่
การจดทะเบียนสมรส ไม่ใช่เพียงแค่การรับรองการเป็นสามี ภรรยา เท่านั้น แต่ยังมีผลทางกฎหมายรอบด้านอยู่ด้วย เช่น สินสมรส การครอบครองบุตร การเรียกร้องสิทธิ์ และ การรับกรรมสิทธิ์ต่างๆ ของคู่สมรส เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว ควรศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ