
นับถอยหลัง 3 วันก่อนเลือกตั้ง 2566 เรียกได้ว่า กระแสแรงสุดๆ เพราะคนไทยส่วนใหญ่หันมาสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น เช่นเดียวกับ กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือเจนแซด (เฉพาะอายุ 18-26 ปี) ซึ่งเป็นกลุ่มนิวโหวตเตอร์ จำนวน 7.6 ล้านคน ก็อยากมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศด้วยตัวเอง
ภาพสะท้อนหนึ่ง จากการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ผู้สิทธิแต่ละคนพากันแสดงจุดยืนของตัวเอง
ผ่านการแต่งตัวแบบจัดเต็ม ชนิดไม่มีใครยอมใคร ทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับต่างๆ ให้เราได้เห็นเป็นสีสัน 'อีจัน' ก็ต้องขอปรบมือให้กับความครีเอท และขอมอบมงให้กับหลายๆ คน
และเชื่อว่า วันเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.66 ที่จะถึงนี้ หลายคนคงเริ่มเตรียมตัวที่จะแสดงจุดยืนกันแบบจัดหนักจัดเต็ม ไม่แพ้วันเลือกตั้งล่วงหน้าแน่นอน
แต่ไม่ว่าจะเลือกพรรคไหน ก็อย่าพลาดสวมเสื้อผ้า หรือเครื่องแต่งกาย ที่มีสัญลักษณ์ โลโก้ หมายเลขของพรรคการเมือง หรือผู้ลงสมัคร ส.ส. ไปเด็ดขาดเลยนะ
เนื่องจากวันที่ 10 พ.ค.66 ที่ผ่านมา พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ได้ออกมาเน้นย้ำว่า
ให้งดสวมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ที่มีสัญลักษณ์ โลโก้ หมายเลขของพรรคการเมือง หรือผู้ลงสมัคร ส.ส. ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.66 (ก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน) จนจบวันที่ 14 พ.ค.66 โดยเฉพาะเมื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง
ซึ่งถือเป็นการโฆษณาหาเสียง นอกเวลาที่กำหนด เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 79 ห้ามไม่ให้ผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองก็ตาม โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ นอกจากห้ามสวมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ที่มีสัญลักษณ์ โลโก้ หมายเลขของพรรคหรือผู้ลงสมัครแล้ว ยังมีอีกหลายข้อห้าม ที่ทุกคนต้องระมัดระวัง วันนี้ 'อีจัน' มีคำตอบ
สำหรับ 11 ข้อห้ามตามกฎหมายเลือกตั้ง มีดังนี้
1.ห้ามโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.66 (วันก่อนเลือกตั้ง 1 วัน) จนจบการเลือกตั้ง เช่น การใส่เสื้อผ้าที่มีโลโก้พรรค โพสต์โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย แจกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหาเสียง เป็นต้น
2.ห้ามเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันใดๆ ที่เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง
3.ห้ามเปิดเผยโพลสำรวจความเห็นช่วง 7 วันก่อนเลือกตั้ง
4.ห้ามซื้อสิทธิ-ขายเสียง
5.ห้ามจัดรถเกณฑ์คนไปเลือกตั้ง เพื่อจูงใจ-ควบคุมให้เลือกผู้สมัคร ส.ส. คนใด
6.ห้ามผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เอาบัตรประชาชนของคนอื่น/ปลอมแปลง ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
7.ห้ามนำบัตรเลือกตั้ง ออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง
8.ห้ามทำเครื่องหมายเป็นจุดสังเกตในบัตรเลือกตั้ง
9.ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว
10.ห้ามโชว์บัตรเลือกตั้งที่กาแล้วให้คนอื่นเพื่อให้ทราบว่าเลือกใคร เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองได้ลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด
11.ห้ามจำหน่าย-แจกสุราในเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.66 (วันก่อนเลือกตั้ง 1 วัน) จนจบวันที่ 14 พ.ค.66
ผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมเพิกถอนสิทธิทางการเมือง หากพบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง สามารถแจ้งเบาะแสได้ทางแอปพลิเคชัน 'ตาสับปะรด' หรือแจ้งเหตุได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2141 8860, 0 2141 8579 และ 0 2141 8858 หรือศูนย์บริการข้อมูลสายด่วนเลือกตั้ง 1444
จะเลือกคนที่ใช่ หรือพรรคที่ชอบ ก็ขอให้อยู่ในกฎหมายการเลือกตั้งนะจ๊ะ แล้วมารอลุ้นกันว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยจะเป็นใคร ใช่คนในใจหรือเปล่า?