รู้กติกาเลือกตั้ง 66 ก่อนเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง 14 พ.ค.66

รู้กติกาเลือกตั้ง 66 ก่อนเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง 14 พ.ค.66

เปิดสูตร-ทวนกติกาเลือกตั้ง 66 ก่อนเข้าคูหากาเบอร์ที่รัก กาพรรคที่ชอบ 14 พ.ค.66 วันเลือกตั้ง

ก่อนเข้าคูหากาเบอร์ที่รัก กาพรรคที่ชอบ ในวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.66 นี้ เรามาทบทวนกติการการเลือกตั้ง 2566 กันอีกสักรอบ 

สำหรับการเลือกตั้ง 2566 นี้ จะใช้ระบบที่เรียกว่า ระบบคู่ขนาน ซึ่งเคยใช้มาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อปี 2544, 2549 และ 2554 จุดขายก็คือ เพื่อให้ประชาชนได้ "เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ" ซึ่งแบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 100 คน โดยประชาชนต้องกากบาทบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามประเภท ส.ส.

โดยบัตรเลือกตั้งใบที่ 1 (สีม่วง) ใช้เลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งก็คือ เลือกคนที่อยากให้เป็นตัวแทนเขต, เลือกคนที่จะเลือก นายกรัฐมนตรี แทนเรา หรือถ้าไม่มีคนที่รักก็ให้เลือกพรรคที่ชอบ

ส่วนบัตรเลือกตั้งใบที่ 2 (สีเขียว) ใช้เลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) หรือพรรคที่ชอบ โดยจะเลือกจากพรรคที่เราชื่นชอบนโยบาย พรรคที่จะไปเลือกนายกรัฐมนตรีแทนเรา รวมถึง เลือกพรรคที่อยากให้เป็นรัฐบาล

ซึ่งบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบนี้ จะทำให้พรรคการเมืองหนึ่งพรรค หรือหลายพรรคร่วมกัน สามารถมี ส.ส.มากกว่า 250 คน ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และมีจำนวนมากกว่า ส.ว. ซึ่งจะทำให้มีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีเสียงข้างมาก 376 เสียงของรัฐสภา หรือเกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด 750 เสียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ต้องรู้! ก่อนไปเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้
รู้กติกาเลือกตั้ง 66 ก่อนเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง 14 พ.ค.66

สำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขต คือ ปัจจัยชี้ขาดผลแพ้ชนะ เนื่องจากมีจำนวน 400 ที่นั่งให้แต่ละพรรคได้แย่งชิงกัน 

โดยแต่ะพรรคพยายามดึงบุคคลมีชื่อเสียง มีคะแนนนิยมในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการดึงนักการเมืองบ้านใหญ่ ตระกูลการเมืองท้องถิ่นให้เข้ามาอยู่ในพรรค เพื่อทำให้ฐานเสียงของพรรคเพิ่มและมั่นคงขึ้น

ขณะที่  ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหลักเกณฑ์การคำนวณ ดังนี้

1.ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ

2.ให้นำคะแนนรวมจาก ข้อ 1 หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน

3.ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับหารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม ข้อ 2 ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม คือจำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ

4.กรณีที่จำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมืองมีไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษโดยไม่มีจำนวนเต็มและพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากการคำนวณ ตามข้อ 3 พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ อีก 1 คนเรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบ 100 คน

5.ในการดำเนินการตามข้อ 4 ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากัน และจะทำให้จำนวน ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ เกินจำนวน 100 คน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากัน จับสลากตามวันและเวลาที่ กกต. กำหนด เพื่อให้ได้ ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ ครบจำนวน และให้ถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมือง ตามจำนวนที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ

ตามผลการคำนวณได้รับเลือกตั้งเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น จนครบจำนวน แต่ต้องไม่เกินจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นได้ส่งสมัคร จำนวนที่ยังขาดอยู่ให้เป็นไปตามมาตรา 83 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564

ตัวอย่าง การคำนวณโดยอ้างอิงจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีผลคะแนนรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 35,561,556 คะแนน เมื่อนำมาหารด้วย 100 จะเท่ากับ 355,615.56 คะแนน ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิธีกาบัตรเลือกตั้งให้ได้คะแนน เลือกตั้ง 2566
รู้กติกาเลือกตั้ง 66 ก่อนเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง 14 พ.ค.66

Related Stories

No stories found.
logo
ข่าว อีจัน
www.ejan.co