ส.ว. กับหน้าที่และอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560

รู้ไหม สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. มีหน้าที่และอำนาจอะไรบ้างตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป และกำหนด วันเลือกตั้งล่วงหน้า เป็น วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.00-17.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งที่ท่านลงทะเบียนขอใช้สิทธิ

เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งป้ายแดงได้รู้บทบาทหน้าที่ของ “สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.” และเป็นการทบทวนข้อมูลให้กับผู้ที่เคยผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว อีจัน ขอนำข้อมูลเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ “สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.” มาบอกกัน

หน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุไว้ว่า…

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศได้กำหนดให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในระบบรัฐสภา ให้รัฐสภาประกอบด้วย “สภาผู้แทนราษฎร” จำนวน 500 คน และ “วุฒิสภา” จำนวน 200 คน และเพื่อให้การปฏิรูปประเทศในระยะเปลี่ยนผ่านบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงกำหนดให้มี “วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล” ขึ้นในวาระเริ่มแรก (ภายใน 5 ปีแรก) จำนวน 250 คน ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจที่เพิ่มขึ้นจาก “วุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก”

โดยอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาหลัก ได้แก่

1.วุฒิสภาตามบทบัญญัติหลัก

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

-การพิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจทั้งการพิจารณากฎหมายร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในฐานะรัฐสภา และการกลั่นกรองกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว

-การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ

-การให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจในการให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ดังต่อไปนี้

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน โดยผู้ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกรายใด ให้ดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไปโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.

 คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา จำยวน 5 คน โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 7 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ผู้ตรวจการแผ่นดิน

 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีจำนวน 3 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการจำนวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา โดยให้มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 7 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วย กรรมการจำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งได้รับการสรรหา โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 7 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว และให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ดำเนินการเสนอชื่อบุคคลใหม่เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการจำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาโดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 7 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ข้อสังเกต วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไม่มีอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ซึ่งแตกต่างจากอำนาจของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ พุทธศักราช 2550 ซึ่งบัญญัติให้วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง

2.วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล

สำหรับวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลนั้น นอกจากจะมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับวุฒิสภาตามบทบัญญัติหลักแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้เพิ่มหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะ ดังนี้

การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 270 บัญญัติให้วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลมีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตาม หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการนี้ คณะรัฐมนตรีต้องแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบ ทุก 3 เดือน ด้วย

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 270 บัญญัติว่าร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ร่างพระราชบัญญัติใดที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบพร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้น

 

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ ตามมาตรา 137 (2) หรือ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 271 บัญญัติให้ในวาระเริ่มแรกภายในอายุของวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล (5 ปี) การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ตามมาตรา 137 (2) หรือ (3) ให้กระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเกี่ยวกับ

-การแก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ

-เป็นร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3

ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ตามบทเฉพาะกาล ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้กระทำใน “ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา” ซึ่งประกอบด้วย “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และ “สมาชิกวุฒิสภา” มติของรัฐสภาที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ทั้งหมดนี้ คือ หน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

อ้างอิงข้อมูล :https://www.senate.go.th/assets/portals/186/fileups/336/files/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%88%20%E0%B8%AA%E0%B8%A7.pdf

ยุบสภาแล้ว! มีผลทันที