ย้อน 1 ปี ที่พวกเรารู้จัก “มาเรียม”

ระลึกถึง “มาเรียม” 1 ปีที่รู้จักกัน จากพะยูนขี้เซาเกยตื้น สู่ พะยูนเน็ตไอดอล และเธอคือพะยูนที่ทำให้พวกเรารักทะเลมากขึ้น

ถึงแม้วันนี้มาเรียมจะไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีผู้คนนึกถึงเธออยู่ไม่น้อย เพราะการได้พบกับพะยูนขี้เซาอย่างเธอ มันมีความหมายและเปลี่ยนแปลงความเห็นอกเห็นใจต่อธรรมชาติของคนได้มากทีเดียว เมื่อวานนี้ (26 เม.ย. 63) เป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่พวกเราได้รู้จักกับมาเรียม เราจึงอยากมาระลึกถึงเธอกันอีกสักครั้ง เพราะช่วงนี้ที่เรางดเที่ยว งดเดินทางจากโรคโควิด-19 ระบาด ก็ทำให้ได้เห็นฝูงพะยูนกว่า 30 ตัว ออกมาหากินกันเป็นกลุ่ม นับว่าเป็นความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยมากๆ

ย้อนกันสักนิด จากเจ้าพะยูนน้อย ก่อนกลายมาเป็นพะยูนเน็ตไอดอลขวัญใจชาวไทย 26 เม.ย.2562 ที่อ่าวทึง ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ จ้าหน้าที่พบลูกพะยูน อายุราว 6 เดือน นอนเกยตื้นอยู่ แต่จากการวิเคราะห์แล้ว คาดว่ามันยังไม่หย่านม เจ้าหน้าที่จึงพยายามผลักดันกลับสู่ทะเล แต่เจ้าพะยูนน้อยมาเรียมก็กลับมานอนเกยตื้นอีกถึง 3 ครั้ง เจ้าหน้าจึงตัดสินใจหาที่อยู่ที่เหมาะสม เป็นแหล่งที่มีหญ้าทะเล มีกลุ่มพะยูนอยู่มาก และชุมชนในพื้นที่ต้องมีความพร้อมที่จะช่วยดูแลพะยูนร่วมกัน นั่นคือ เกาะลิบง จ.ตรัง ต่อมาเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ทีมพิทักษ์ดุหยง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น จิตอาสา ทีมสัตวแพทย์ จึงได้รับบทเป็นแม่นมจำเป็นให้กับเธอ ก่อนจะตั้งชื่อให้ว่า มาเรียม

แม้มาเรียมจะเป็นพะยูน มีหญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก แต่ด้วยวัยเพียง 6 เดือนของมาเรียมยังต้องกินนม เจ้าหน้าที่จึงต้องช่วยกันป้อนนมให้เธอด้วยสภาพแวดล้อมธรรมชาติ นั่นคือ ป้อนนมในทะเล รับว่ามาเรียมเป็นพะยูนตัวแรกของไทยก็ว่าได้ ที่เธอได้รับการดูแลจากคนในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการให้เธอคุ้นชินว่าที่นี่คือบ้าน ในวันที่เธอแข็งแรงเธอจะต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเธอเอง และอยู่รอดต่อไปให้ได้

ด้วยความน่ารักของมาเรียม ที่ผู้คนไม่ค่อยได้เห็นว่าพะยูนมีความน่ารักบ่อยนัก ทำให้เธอกลายเป็นขวัญใจชาวไทยได้ในไม่ช้า เพราะมาเรียมทั้งขี้อ้อน และเล่นซนตามวัยเหมือนเด็กคนหนึ่ง และภาพที่ถูกถ่ายใต้น้ำ ภายใต้ชื่อว่า ภาพกอดมาเรียม ก็เป็นภาพที่พวกเราทุกคนรักและเอ็นดูมาเรียมมากๆ อีกทั้งภาพนี้ก็ได้รับรางวัลระดับโลก คือภาพถ่ายยอดเยี่ยมจากงาน POY77 งานประกวดภาพถ่ายของช่างภาพอาชีพและสื่อมวลชน เรื่องราวอันน่ายินดีนี้ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพจากอีจัน
ตลอดระยะเวลาผู้คนเฝ้าติดตามดูมาเรียมผ่านทางออนไลน์ ที่ทางเจ้าหน้าที่ติดตั้งกล้องไว้ให้ชมกันได้ทั่วประเทศ และคอยรายงานสุขภาพของมาเรียมอยู่ทุกวัน กระทั่งวันที่ 10 ส.ค. 62 เจ้าหน้าที่โพสต์แจ้งอาการมาเรียม ว่าหลังจากได้ปล่อยให้มาเรียมกลับไปใช้ชีวิตในท้องทะเล พบว่ามาเรียมถูกฝูงพะยูนโตไล่คุกคามจนตกใจ ว่ายกลับมาในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ดูแลตามเดิม และมีอาการไม่ค่อยดีนัก ทานนมได้น้อย ทานหญ้าทะเลได้น้อย อัตราการเต้นของหัวใจก็ช้ากว่าปกติ เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจจัดทีมเฝ้าระวังมาเรียม 24 ชม. แต่แล้ววันที่พวกเราเศร้ากันทั้งประเทศก็มาถึง 17 ส.ค. 62 มาเรียมได้จากไปอย่างสงบ โดยเจ้าหน้าที่ได้ผ่าซากของมาเรียมเพื่อหาสาเหตุการตาย พบว่าในท้องของมาเรียมมีเศษขยะพลาสติกอยู่หลายชิ้น ที่ไปอุดตันและขวางลำไส้ จึงน่าเชื่อว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้มาเรียมจากไป

เรื่องราวของมาเรียมทำให้ผู้คนหันมาสนใจและใส่ใจในทรัพยากรทางทะเลมากขึ้น พวกเราเริ่มหันมารณรงค์ลดใช้พลาสติก ไม่ทิ้งขยะ ลงทะเลกันอย่างจริงจังขึ้น หรือการที่มาเรียมมาให้เราได้พบเจอ เพราะเธออยากจะสื่อสารถึงภัยคุกคามจากขยะพลาสติกในท้องทะเล ที่สัตว์ทะเลต้องพบเจออยู่ทุกวันหรือเปล่านะ สุดท้ายที่อยากจะระลึกถึงมาเรียม เธอคือพะยูนที่ทำให้มนุษย์สนใจระบบนิเวศท้องทะเลมากขึ้น