วิกฤตแม่น้ำโขง จาก ภาพถ่ายผ่านดาวเทียม

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เผย ภาพถ่ายผ่านดาวเทียม แสดงให้เห็นถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึง วิกฤติแม่น้ำโขง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวถึงกรณีภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-8 แสดงภาพแม่น้ำโขง บริเวณอำเภอปากชม จังหวัดเลย ซึ่งถ่ายไว้เมื่อช่วงเดือนมกราคมของปี พ.ศ.2562 และ พ.ศ.2564 แสดงให้เห็นถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน จนปรากฏสันดอนทรายโผล่กลางแม่น้ำ รวมถึงริมตลิ่งของพื้นที่ทั้งสองฝั่ง ตลอดแนวลำน้ำทั้งใน อำเภอปากชม จังหวัดเลยและพื้นที่อื่นๆ

นอกจากนี้ สีครามของแม่น้ำในภาพปัจจุบัน ยังสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ฝนทิ้งช่วงมาสักระยะ เนื่องจากหากมีน้ำฝนไหลลงมารวมที่แม่น้ำ มักจะมาพร้อมกับตะกอนดินจำนวนมาก จนทำให้น้ำในแม่น้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน อย่างเช่นภาพเมื่อปี 2562

ทั้งนี้สภาพของแม่น้ำโขงที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤติแม่น้ำโขง ที่ระดับพื้นผิวน้ำลดลงอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์นี้ อาจส่งผลต่อระบบนิเวศ รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิด ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง อาทิ เลย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นต้น