
ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสินค้า GI สินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น ประจำจังหวัดอุทัยธานี
ของดีระดับจังหวัด ผ่านไปไม่ชิมไม่ได้แล้ว ปลาแรด แห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง
แม่น้ำสะแกกรัง มีต้นน้ำอยู่ในเขตเทือกเขาโมโกจู จังหวัดกำแพงเพชร ไหลลงบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลท่าซุง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุทัยธานี ด้วยระยะทางที่ยาวถึง ๒๒๕ กิโลเมตร เมื่อไหลผ่านพื้นที่ใด ชื่อที่เรียกจึงแตกต่างกันไปแม่น้ำสายนี้ถือว่าเป็นแม่น้ำคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอุทัยธานีเลยก็ว่าได้
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ขึ้นทะเบียนให้ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๕
โดยอาชีพหลักของชาวจังหวัดอุทัยธานีในสมัยก่อนเลยจะนิยมเลี้ยงปลากระชัง และปลาที่ชาวจังหวัดอุทัยธานีนิยมเลี้ยงคือ ปลาแรด แต่ในสมัยก่อนนั้นชาวบ้านจะออกไปหาลูกปลาตามบ่อน้ำเพื่อนำมาใส่ในกระชัง จะไม่เหมือนในปัจจุบันที่มีพันธุ์ปลาจำหน่าย
ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี หมายถึง ปลาแรดที่มีเกล็ดหนา หน้างุ้ม ครีบบนและล่างสั้น เพศผู้มีโหนกสูงใหญ่กว่าเพศเมีย สีเนื้อเข้ม หนังหนา มีเมือกน้อย ด้านบนลำตัวสีน้ำตาลปนดำหรือค่อนข้างเทา ด้านล่างสีขาวเงินแกมเหลือง
เป็นปลาแรดที่เลี้ยงในกระชัง บริเวณลุ่มน้ำสะแกกรัง เริ่มตั้งแต่บ้านจักษาจนไปบรรจบที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลท่าซุง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตำบลสะแกกรัง ตำบลอุทัยใหม่ ตำบลน้ำซึม และตำบลท่าซุง ของอำเภอเมืองฯ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งการเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำสะแกกรังนั้นจะมีความพิเศษตรงที่ บริเวณที่เลี้ยงนั้น แม่น้ำสะแกกรังจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้แม่น้ำสายนี้มีการถ่ายเทตลอดเวลา ทำให้ร่างกายของปลามีความสมบูรณ์เป็นพิเศษ แต่ปลาแรดในกระชังที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ให้อาหารสำเร็จรูปช่วงที่อายุยังน้อยเท่านั้น เมื่อโตขึ้นจึงให้อาหารเป็นผักและผลไม้ตามฤดูกาล เช่น จอก แหน ผักบุ้ง ผักกาดขาว ตำลึง ขนุนสุก และอื่นๆ ทำให้เนื้อปลานั้นไม่มีกลิ่นโคลนหรือกลิ่นสาป
สำหรับใครที่เดินทางผ่านจังหวัดอุทัยธานีแล้วไม่ได้แวะไปชิมปลาแรดเมืองอุทัยถือว่าพลาดเลยนะครับ ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองไปชิมกิน ซึ่งปลาแรดที่จังหวัดอุทัยธานีมีจำหน่ายทั้งปี ไม่ต้องกลัวว่าไปแล้วจะไม่ได้กิน นอกจากจะเป็นเมนูอาหารแล้ว ยังมีสินค้าแปรรูป เช่น น้ำพริกปลาแรด ข้าวเกรียบปลาแรด ปลาร้าปลาแรด ปลาส้มปลาแรด ปลาแรดแดดเดียว